ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึงข้อเท็จจริง 8 ประการของหนี้ครัวเรือน ได้แก่

1.ความเปราะบางของครัวเรือนกระจุกตัวมากขึ้นในครัวเรือนที่มีหนี้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีหนี้   มีความเปราะบางลดลงต่อเนื่อง

2.ภาระหนี้และรายจ่ายไม่จำเป็นคือปัญหาหลักที่ทำให้ครัวเรือนไทยมีรายรับไม่พอรายจ่าย

3.รายได้ที่ผันผวนไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ครัวเรือนก่อหนี้สิน แต่เป็นรายได้ที่มั่นคงที่ทำให้เข้าถึงบริการทางการเงิน (ก่อหนี้) ได้ดีขึ้น

4.ยิ่งครัวเรือนมีสัดส่วนรายได้มั่นคงสูงขึ้น ก็จะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่อัตราการออมจะลดลง สะท้อนถึงการขาดความระมัดระวังในการใช้จ่าย

5.ครัวเรือนรุ่นหลังๆ (Gen Y) มีการใช้จ่ายมากกว่ารุ่นก่อนๆ ค่อนข้างมาก

6.เทคโนโลยีทำให้ครัวเรือนขาดความระมัดระวังในการใช้จ่าย

7.การเพิ่มรายได้เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะขาดประสิทธิผลหากครัวเรือนไม่ปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย

8.ครัวเรือนไทยมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ได้ หากปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย

บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ท่ามกลางการแข่งขันกันนำเสนอชุดนโยบายให้ถูกใจประชาชน ไม่เพียงแต่เสียงท้วงติงจากTDRI ต่อนโยบายหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองที่อาจสร้างภาระการคลัง มีแต่ใช้เงินแต่ไม่บอกแหล่งที่มาของเงินว่าเอาจากที่ใด หรือหาเงินได้จากไหน

ล่าสุด เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานถึงข้อกังวลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความเป็นห่วงต่อนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง โดยเฉพาะการชูนโยบายพักหนี้ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาวินัยการเงินและกระทบต่อคนที่ชำระหนี้ดี  รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนตามมา วิธีการแก้ปัญหานี้ที่ดีที่สุดควรแก้หนี้เป็นรายบุคคล ซึ่งแม้เห็นผลช้าแต่ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพ จึงไม่อยากให้พรรคการเมืองนำนโยบายหาเสียงพักหนี้มาใช้อีก เพราะจะส่งผลเสียต่อหนี้ครัวเรือนในระยะยาวและทำให้คนไทยขาดวินัยในการใช้หนี้

ดังนั้น พรรคการเมืองต่างๆ จึงควรมุ่งนำเสนอนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน แบบเฉพาะเจาะจงของแต่ละกลุ่ม เพื่อแก้ปัญหานี้เดิม ตัดวงจรก่อหนี่ใหม่ และหารายได้เพิ่ม