ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

คำคม-คำครู

“ในเรื่องการเขียน อย่ามัวคิดสร้างสำนวน สำนวนคือสร้อยเพลง เอาความจริงในชีวิตมาเขียนให้คนอื่นอ่าน  คนอื่นไม่รู้ความจริงในชีวิตเราเท่าเราเขียน เรื่องจริงคือเสน่ห์ของความจริง”

“นักประพันธ์ หนังสือแพงเท่าไหร่ต้องเสพย์  แม้จะพิมพ์คัมภีร์ทองซ่อนไว้ ยังต้องขโมยอ่าน เมื่อเสพย์แล้ว สมองเราดีขึ้น ไม่ท่องคาถา จะเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างไร”

“การเป็นนักประพันธ์ นอนให้เต็มตา กินให้เต็มอิ่ม แล้วประโยคดี ๆ วรรคทอง จะออก แทงสนุกเกอร์ก็ชนะ  คนอดนอน เขียนไม่เป็นตัว แทงสนุกเกอร์ก็แพ้”

“อย่ามัวปั้นสำนวน แต่งภาษาไทยให้ถูกไวยากรณ์ก่อน ภาษาไทยต้องแม่นยำ ถูกต้องอย่างผู้มีภูมิ เอาความจริงแท้ ๆ ที่สะเทือนใจมาเขียนให้จับใจ”

“Easy  Goes  Infinity ความง่ายจะทำให้เป็นอมตะ  งานเขียนที่ดีต้องใช้ภาษาง่าย ๆ อ่านได้ตั้งแต่สามล้อจนถึงรัฐมนตรี”

“คนเก่งจะไม่หักมุม แต่ให้ Detail  เรื่องสั้นของเฮ็มมิงเวย์ให้ Detial  ถ้าได้ทั้ง Detial และหักมุมได้คะแนนเต็ม 100”

ประโยคที่ให้ข้อคิดอันคมคายเกี่ยวกับการเขียน  ซึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงดังทุ้มภายในบ้านชั้นเดียว ซอยชูจิตารมย์  ย่านสุทธิสาร เมื่อต้นปีพ.ศ. 2540 ครั้งที่ไปสัมภาษณ์และครั้งที่ไปเยี่ยมอีกหลายครั้ง  เป็นคำพูดของอาจินต์  ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  ผู้เขียนเรื่องชุด เหมืองแร่อันยิ่งยง ได้แก่ ตะลุยเหมืองแร่,แผ่นดินแร่. เหมืองมนุษย์,เจ้านกขมิ้นจากเหมืองแร่.เสียงเรียกจากเหมืองแร่,จุฬาปฏิเสธข้าพเจ้า ฯลฯ  นวนิยาย-ใต้แผ่นดิน เลือดในดิน,เหมืองทองแดงเจ้าพ่อ,เจ้าเมือง,สนิมนา นางเอกหลังบ้าน เป็นอาทิ 

ชีวิตของอาจินต์  ปัญจพรรค์ เป็นชีวิตที่ยิ่งใหญ่และองอาจสมกับชื่อเสียง  จากกรรมกรเหมืองแร่ต้องฟันฝ่าความยากลำบากอย่างแสนสาหัสด้วยความทรหด  กว่าจะผ่านเบ้าหลอมของเหมืองแร่ปีนป่ายไปสู่เบ้าหลอมของเหมืองน้ำหมึก จนมีชื่อเสียงขจรทั่วฟ้าเมืองไทย  เส้นเอ็นปูดโปนแทบปริแตก  หากยิ่งกว่านั้นก็คือ เส้นเลือดฝอยในคอแตก เพราะออกแรงเกินกำลัง

ทั้งที่เขาเป็นลูกผู้ว่าราชการจังหวัด  ชีวิตน่าจะสุขสบาย  แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะ อะไรอย่างนั้นหรือ  สำหรับคนวงนอกแล้ว อาจจะตั้งคำถามด้วยความฉงน... จึงขอย้อนเวลาไปสู่ชีวิตแต่หนหลัง ประหนึ่งนวนิยายของอาจินต์  ปัญจพรรค์ ซึ่งจากไปเมื่อวันที่  17  พฤศจิกายน

2561 ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้  91 ปี 1 เดือน 6 วัน เพื่อแสดงความเคารพรักและรำลึกถึงคุณความดี  ที่สำคัญ ชีวิตของนักประพันธ์ชั้นครูผู้นี้เป็นชีวิตที่ควรค่าแก่การศึกษาสำหรับคนรุ่นหลัง....

ชีวิตครั้งปฐมวัย

1.บางเลน ถิ่นเกิด

อาจินต์  ปัญจพรรค์ เกิดเมื่อวันที่  11 ตุลาคม 2470 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม  ในจำนวนพี่น้อง 5 คน หนึ่งในนั้นคือนักเขียนสตรียอดนิยมในยุคนั้น  ซึ่งเป็นพี่สาวคือ ชอุ่ม  ปัญจพรรค์ ผู้เขียน ทัดดาว  บุษยา,สร้อยฟ้าขายตัว ฯลฯ  บิดาคือขุนปัญจพรรคพิบูล(พิบูล  ปัญจพรรค์)  มารดาชื่อกระ แส  ปัญจพรรค์ ดังที่เขาเล่าไว้ตอนเริ่มเรื่องในเรื่อง “ร่ายยาวแห่งชีวิต”...

“ฉันเกิดในรัชกาลที่ 7 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ริมฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี ในสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ไปถึง มีแต่ทางเดิน ทางเกวียนและขี่ม้า วันหนึ่ง ๆ จะมีเรือเมล์ขึ้นล่องผ่านที่นั่นเพียง

2 เที่ยว เมื่อสิ้นเสียงเรือเมล์แล้ว ก็มีแต่ความเงียบ ร่มเย็นด้วยลมแม่น้ำโกรก ขึ้นมาสู่ท้องนาและ บ้านเรือน เป็นสมัยที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา มีแต่ตะเกียงและแสงจันทร์ มีแต่แม่น้ำและน้ำฝน ไม่มีวิทยุ ทีวี มีแต่เพลงฉ่อย เพลงลิเก” อาจินต์  ปัญจพรรค์ เล่าต่อในเรื่องเดียวกันนี้ว่า...

 “ฉันเกิดในเดือนตุลาคม  พ.ศ. 2470 ตุลาคมคือ เดือนสิบเอ็ด เป็นปลายฤดูฝน แม่น้ำกำลังเอ่อท้น ท้องฟ้าโปร่งเย็น มีเพลงพื้นบ้าน บ่งบอกดินฟ้าอากาศตามฤดูกาลว่า

“ย่างเดือนสิบเอ็ดน้ำเริ่มไหลนอง พอเดือนสิบสองน้ำในคลองก็เริ่มจะทรง ครั้นถึงเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง...”

ฉันจำเพลงนี้มาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เพราะมันเกี่ยวกับเดือนเกิดของฉัน....”

เพลงที่อาจินต์  ปัญจพรรค์ยกตัวอย่างคือเพลง “น้ำลงเดือนยี่” ขับร้องโดยรุ่งเพชร แหลมสิงห์ แต่งโดยครูเพลง-ไพบูลย์  บุตรขัน เป็นเพลงดังที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีการแบ่งเป็นเพลงลูกกรุง-ลูกทุ่ง

ขุนปัญจพรรคพิบูล ผู้เป็นบิดา สอบเข้ารับราชการครั้งแรกเป็นปลัดอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีและได้พบรักกับมารดา-กระแส  โกมารทัต ซึ่งเป็นลูกสาวนายอำเภอเก่า แล้วจึงย้ายไปเป็นปลัดอำเภอเดิมบางนางบวช  จังหวัดสุพรรณบุรี  ต่อมา ย้ายไปเป็นปลัดอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมและอาจินต์  ปัญจพรรค์ ก็เกิดที่อำเภอนี้ในอีก 2 ปีต่อมา

อีก 4 ปีต่อมา  บิดาเลื่อนตำแหน่งเป็นนายอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี  ภายหลังได้เป็นนายอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม จนกระทั่งเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดและผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาตามลำดับ

ตอนที่เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์ มีอายุยังไม่เต็ม 4 ขวบ บิดาพาไปฝากเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนหญิง ซึ่งมีพี่สาวคือชอุ่ม ปัญจพรรค์เรียนอยู่  จะได้ดูแลน้อง  บิดาอยากให้คุ้นกับโรงเรียนมากกว่าจะให้เรียนจริง ๆ เมื่ออายุได้ 5 ขวบ ตรงกับปีพ.ศ. 2474  ย้ายไปเรียนชั้นประถมปีที่ 2  ที่พระปฐมวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชาย ต่อมา มารดาป่วยหนัก  บิดาจึงฝากป้าที่กรุงเทพฯ ให้ช่วยดูแล  เขาเล่าไว้ในเรื่อง “วัยบริสุทธิ์” เมื่อปีพ.ศ. 2522 ว่า...

“แม่ป่วยหนัก พ่อจึงฝากให้อยู่กับญาติในกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้อยู่กวนแม่  แม่ตายในคืนที่ฉันลงเรือเมล์นั่นเอง  ต้นพ.ศ.2475  พ่อได้เป็นนายอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ฉันเรียน ก.ข. อยุ่ในกรุงเทพฯ”

ช่วงอยู่ที่กรุงเทพฯกับป้า  เขานอนร้องไห้เกือบทุกคืนด้วยความคิดถึงบ้าน จนกระทั่งวันที่   24 มิถุนายน  2475  เมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเรียกว่า “ปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475”  บิดาเป็นห่วง กลัวเกิดเหตุร้าย จึงให้ป้า ซึ่งเป็นพี่สาวของแม่ อยู่ที่นครปฐมและเป็นผู้ดูแลพี่น้องของเขา พาเขาไปอยู่รวมกับพี่น้องที่นครปฐม ทำให้เขาดีใจมากที่จะได้กลับบ้านเจอพี่น้องและคนอื่น ๆ ด้วย

ระหว่างเดินทางเด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์มีความสุขมาก เพราะป้าซื้อขนมให้กินตลอดทาง ของกินที่พ่อค้าแม้ค้าเอามาขายได้แก่ อ้อยควั่นเสียบไม้เป็นพวง,ถั่วต้ม,มันแกว,ข้าวหลาม,ข้าวหมาก,น้ำฝนใส่ขันฯลฯ และด้วยธรรมชาติของเด็กที่เริ่มเรียนรู้การอ่าน  เวลาเห็นตัวหนังสืออะไร ก็สะกดอ่านไปเรื่อยด้วยความสนุก  อ่านผิด ๆ ถูก ๆ บ้าง  เมื่อไม่แน่ใจหรืออ่านไม่ออก  ก็ถามผู้ใหญ่ 

วันที่นั่งรถไฟกลับนครปฐม  เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์จะมองหาตัวหนังสือไปตลอดทาง  แล้วอ่านออกเสียงด้วยความสนุก  แม้กระทั่งเข็มกลัดทองที่กลัดหน้าอกเสื้อของป้าที่เขียนชื่อ-นามสกุลของป้า  เขาก็อ่านด้วยน้ำเสียงเจื้อยแจ้ว ดวงตาเป็นประกายแจ่มวาว  บ่งบอกถึงความเป็นเด็กอยากรู้และรักตัวหนังสือ

 

 

“.....เกิดมาจงเป็นคนดี เป็นพลเมือง จงเป็นพลเมืองดี เขียนหนังสือ จงเป็นนักเขียนที่ดี เขียนไป จนมีคนเอ็นดู เรียกหาขานนาม  หนังสือโน้นหนังสือนี้ก็มาขอให้เขียน ให้มากมั่งน้อยมั่ง เราไม่เกี่ยง ขอเพียงจะเขียนของดี”(อาจินต์  ปัญจพรรค์)