ยูร   กมลเสรีรัตน์

[email protected]

2. แววฉลาด

ตอนที่ลงเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์เห็นป้ายกลมใหญ่ เป็นป้ายสีดำ มีตัวหนังสือตัวโต ๆ สีขาว  ปักไว้คนละฟากแม่น้ำฝั่งละหนึ่งป้าย  มีข้อความเดียวกันทั้งสองป้าย เขาจึงสะกดอ่าน มีใจความว่า...

‘สายเคเบิล ห้ามเกาและทอดสมอ’

ในเวลานั้น เขาไม่รู้ว่า ป้ายนั้นเขียนไว้เพื่ออะไร  เมื่อโตขึ้นเขาจึงรู้ว่า สายเคเบิลคือ สายโทรเลข ที่ทอดสายไว้ก้นแม่น้ำจากฝั่งกรุงเทพฯ ไปโผล่ที่ฝั่งธนฯ แล้วโยงสายไว้บนเสาโทรเลขข้างทางรถไฟไปยังจังหวัดต่าง ๆ เขาเล่าไว้ในเรื่อง “วัยบริสุทธิ์” ว่า...

“ป้ายนั้นทำให้เตือนชาวเรือและคนตกกุ้งตกปลาไม่ให้ทอดสมอแถวนั้น เพราะจะทำให้สายชำรุดเสียหาย”

เป็นธรรมชาติของเด็กที่เริ่มเรียนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นป้ายอะไร เมื่อเห็นเป็นอ่านหมด  อย่างป้ายชื่อถนนปักไว้ตามสี่แยกและป้ายบ้านเลขที่ซึ่งเป็นเลขไทย บ้านบางหลังมีป้ายบอกนามสกุลเจ้าของบ้านด้วย  ไม่อาจเล็ดลอดสายตาของเด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์ที่จะอ่านด้วยน้ำเสียงเจื้อยแจ้ว น่ารักน่าเอ็นดู ประสาวัยไร้เดียงสา

ขณะนั่งเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เห็นเรือรบจอดอยู่กลางแม่น้ำ มีป้ายบอกชื่อเรืออยู่ท้ายเรือ ข้างหน้าชื่อมีอักษรย่อว่า “ร.ล.” ทำให้เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์เกิดความสงสัยขึ้นมาตงิด ๆ ว่า ทำไมเรือรบ ไม่ใช้ว่า “ร.ร.”  เขามั่นใจว่า ร.เรือตัวหน้าแปลว่าเรือแน่ ๆ แต่ล. ลิงข้างหลังแปลว่าอะไรล่ะ?

คำถามที่ค้างคาในใจนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง  เมื่อขึ้นท่าเรือไปตีตั๋วรถไฟ เขาเห็นตัวล.ลิงอีก คือตัวอักษรย่อว่า ร.ฟ.ล. ที่เขียนไว้ข้างรถไฟ  เขาแปลตัวย่อ ร.ฟ. ว่าหมายถึง  รถไฟ แน่นอน แต่สงสัยอีกแล้วว่า ล.ลิงตัวหลังแปลว่าอะไร?

เด็กชายอาจินต์ ปัญจพรรค์เก็บความสงสัยนี้ไว้  จนกระทั่งวันหนึ่งจึงถามปัญหาที่ค้างคาในใจกับบิดา  ก็ได้รับคำตอบว่า ร.ล. แปลว่า เรือรบหลวง  ส่วนร.ฟ.ล. แปลว่า รถไฟหลวง  แล้วบิดาก็พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นเป็นเชิงสอนว่า...

“...ของหลวงเป็นของสำคัญ ท่านสร้างไว้ใช้ในบ้านเมือง  เราต้องเคารพ ระวังรักษา ใครจะทำลายหรือโกงหรือเบียดบังเอาไปไม่ได้ ของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ หมายความว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใครจะทำอะไรไม่ได้...”

ในเวลาต่อมา ครั้นเขาเห็นคนที่เป็นคุณหลวงและหม่อมหลวง และพระที่เป็นหลวงพ่อ หลวงลุง หลวงพี่ เขาจึงถามบิดาด้วยความสงสัย  บิดาเฉลยให้เขาเข้าใจว่า คนเหล่านั้นเป็นบุคคล ไม่ใช่สิ่งของ  แล้วเน้นเสียงว่า...

“มีองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นที่เคารพสูงสุด ท่านเป็นสมบัติของบ้านเมือง ท่านเป็นตัวแทนของคำว่าหลวงทั้งหมด คือ ในหลวง”

ตอนที่เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด  เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ของใหม่ทั้งหมด พ่อไปซื้อที่ตลาดสำหรับการเป็นนักเรียนใหม่ของเขา  ไม่ว่าจะเป็นเสื้อใหม่ กางเกงตัวใหม่เอี่ยมอ่อง  เวลาเดินจะมีเสียงดังกร็อบแกร็บตามจังหวะก้าวเดิน  มีกระดานดำแผ่นใหม่  คือกระดานชนวนนั่นแหละ ดินสอหินแท่งใหม่ ไม้บรรทัดอันใหม่ หนังสือเรียนเล่มใหม่

เนื่องจากเป็นโรงเรียนสตรี นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 จึงมีนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชาย นักเรียนชายมีไม่ถึง 10 คน แม้จะมีนักเรียนชายน้อยกว่า อย่างน้อยก็ทำให้เขาไม่รู้สึกเขินอายที่อยู่ท่ามกลางนักเรียนหญิง จะเขินก็ตรงที่เขาเข้าเรียนกลางเทอมแล้ว

ครูประจำชั้น เป็นหญิงสาวที่สวย ความที่เป็นนักเรียนใหม่ เขาจึงยังไม่คุ้นกับกฎระเบียบ เช่น ต้องยืนตัวตรงพูดกับครู เวลาจะไปปัสสาวะหรืออุจจาระ ต้องขออนุญาต ดังนั้น ถึงแม้เขาจะปวดท้อง เขาก็ไม่กล้าขออนุญาตครู จะพยายามกลั้นไว้อย่างที่สุด

เมื่อครูให้เปิดหนังสืออ่านออกเสียงดัง ๆ พร้อมกันทั้งชั้น เขาเปิดหาหน้านั้นไม่เจอ เพราะเป็นหนังสือเล่มใหม่ เล่มที่พ่อซื้อให้เป็นคนละเล่มกับที่เขาเรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนังสือหัดอ่าน ก.ข. สำหรับชั้นมูล แต่เด็กนักเรียนพวกนี้เรียนหนังสือแบบเรียนเร็วสำหรับชั้นประถมปีที่ 1แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาจึงแกล้งทำปากขมุบขมิบ เพื่อให้กลมกลืนกับเพื่อน ๆ ที่พากันอ่านหนังสือเสียงดังคับห้องเรียน ครูคนสวยสังเกตอากัปกิริยาของเด็กชายอาจินต์ ปัญจพรรค์มาโดยตลอด จึงเรียกไปพบ

 เมื่อรู้ปัญหา จึงสั่งให้เอาหนังสือเล่มเก่ามาในวันพรุ่งนี้ด้วย จะรีบสอนให้ทันเพื่อน ๆ วันนี้ให้เขาคัด ก.ข. ลงกระดานชนวนอย่างเดียว แล้วเอาดินสอหินขีดเส้นบรรทัดบนกระดานชนวนให้เขา โดยเขียนตัวหนังสือบรรจงไว้แถวหนึ่ง ตกเย็น บิดาเรียกเขาไปเขียนหนังสือให้ดู เขาจึงบรรจงเขียนบนกระดานชนวนที่พี่แสวง ซึ่งเป็นลูกของลุง เอาตะปูฝนจนปลายแหลมมาขีดเส้นบรรทัดบนกระดานชนวนให้เป็นเส้นถาวร เมื่อเขาเขียนหนังสือให้บิดาดูแล้ว บิดาบอกย้ำเป็นคำสอนว่า...

“ลูกต้องเขียนหนังสือให้หัวมีแวว อย่าให้หัวบอด ไม่อย่างนั้นจะไม่สวยและสับสนกัน”

ในที่สุด เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์ก็คุ้นกับโรงเรียนและกฎระเบียบ  กล้าที่จะขออนุญาตครูไปปัสสาวะและเรียนหนังสือเล่มใหม่เกือบทันเพื่อน เพราะครูคนสวยเร่งสอนหนังสือเล่มเก่าให้และพี่สาวคือชอุ่ม  ปัญจพรรค์ช่วยสอนที่บ้านด้วย  เขาเล่าตอนนี้ด้วยความรำลึกถึงพี่สาวและเห็นใจพี่สาวว่า...

“วันที่มีเลขการบ้านตอนแรก ๆ พี่สาวของฉันถึงกับร้องไห้ เพราะฉันเข้าใจได้ช้ามาก จนเขาแทบไม่มีเวลาทำการบ้านของเขาเอง”

เมื่อเปิดเทอมใหม่เขาก็เรียนทันเพื่อน เพราะ ชอุ่ม  ปัญจพรรค์ ผู้เป็นพี่สาวช่วยกวดขันอย่างใกล้ชิด พอสอบไล่ปลายปี  ปรากฏว่าเด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์สอบได้ที่ 1 ของนักเรียนชายทั้งหมด ทำให้พี่สาวยิ้มออกด้วยความชื่นใจ  สมกับที่กวดขันและจำจี้จ้ำไชน้องชาย ดังที่เขาบรรยายตอนนี้ไว้ว่า...

“...ยิ่งกว่านั้นเขายังหัวเราะสนุกสนาน และเอามาล้อเลียนที่บ้านด้วยว่า ฉันสอบได้ที่ 1 สองหน คือเมื่อนับรวมกับเด็กผู้หญิงชั้นแล้ว  ฉันได้ที่ 11  ใคร ๆ พลอยสนุกกับคำนั้นไปด้วย แต่พอพ่อกลับบ้านและรู้ผลนี้ พ่อไม่สนุกด้วย กลับพูดว่า ระวัง ถ้านับกับโรงเรียนทั้งจังหวัดแล้ว แกอาจจะได้ที่ที่ 1 สามหน เป็นที่ 111 จะสนุกหรือ”

 

 

“ความเกิดคือบทนำของความตาย  แต่ความตายคือบทเดียวอมตะในตัวของมันเอง  ความตายไม่มีบทจบ...ความตายไม่เคยตาย”(อาจินต์  ปัญจพรรค์)