สถาพร ศรีสัจจัง

คำ “ความขัดแย้ง” ต้องนับเป็นคำสำคัญยิ่งคำหนึ่งของนักสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ เพราะคำนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญยิ่งในการใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สังคมและวิเคราะห์สถานภาพด้าน “คุุณค่า” ที่ดำรง ตาม “สภาวะ” ของมนุษยชาติ และ “ความสัมพันธ์” (Relation) ของพวกเขาต่อสิ่งต่างๆ คือทั้งต่อมนุษย์ด้วยกัน ต่อสิ่งธรรมชาติอื่นใด และต่อสิ่งนามธรรมทั้งหลายทั้งปวง (Super nature)

คำ “ความขัดแย้ง” (Conflict) เป็น “คีเวิร์ด” สำคัญของทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ตะวันตก สาย “กระบวนทัศน์” (Paradign)ที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า “ทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้ง” (Theory of conflict)

ต้นธารสำคัญของนักสังคมศาสตร์ที่พัฒนาทฤษฎีดังกล่าวคือนักคิดลือนามชาวเยอรมันที่ชื่อนาย Karl Marx คนนั้นนั่นแหละ!

ฟังว่า นักการเมืองคนสำคัญๆของหลายพรรคการเมืองไทยปัจจุบัน ที่พัฒนาตัวเองมาจากการเป็นนักกิจกรรมในยุค “ 14 ตุลาฯ” พ.ศ. 2516 (ทั้งก่อนและหลังการเกิดเหตุการณ์) ที่ส่วนใหญ่ได้ “ลี้ภัยเข้าป่า” ไปร่วมงานกับ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” เพื่อสู้รบกับรัฐบาลไทยหลังเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ” พ.ศ. 2519 หลายคน ก็ได้ใช้ “ทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้ง” นี่แหละมาเป็นเครื่องมือหากิน

คงไม่ต้องระบุชื่อพวกเขาออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมกระมังว่ามีใครบ้าง ขอให้รู้กันแต่เพียงว่า มีไม่น้อยคนในหลายคนที่เข้าสู่วังวนทางการเมืองไทยปัจจุบันเหล่านั้น ที่ได้ดิบได้ดี เป็นผู้หลักผู้ใหญ่มีชื่อมีเสียงในฐานะผู้สันทัดทางการเมืองก็มีไม่น้อย!

เมื่อถึงวันนี้ ก็ยังเห็นมีหลายคนที่ยังคงทรงอำนาจในบางพรรคการเมือง ยังเป็น “นักวิเคราะห์” ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของพรรคการเมืองใหญ่ๆอยู่!

เอาเป็นว่า อย่าลืมก็แล้วกันเน้อ! ว่า พ.ศ. 2566 นี้ เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปี หรือ “ครึ่งศตวรรษ” เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ” เข้าแล้ว บรรดาท่าน “ศิษย์เก่า” ที่รู้ตัวว่าได้ “เกิด” และ “ได้ดิบได้ดี” ทางการเมือง (หรือทางเศรษฐกิจ) มาส่วนหนึ่งก็เพราะคุณูปการจากเหตุการณ์นี้

ก็ช่วยรำลึกหรือช่วยทำบุญ ด้วยการทำความดีให้กับ “มวลชน” (โดยเฉพาะคนจนผู้ยากไร้ที่เคยชอบพูดถึงกันในยุคนั้น)ในด้านใดด้านหนึ่งเสียบ้างก็แล้วกัน

ส่วนจะทำอะไรที่ใหญ่ๆโตๆเพื่อ “รำลึกวีรชน” หรือเพื่อ “รำลึกเหตุการณ์” หรือไม่นั้น ก็เอากันตามสะดวกท่านก็แล้วกันละเนาะ!

ขอเพียงอย่าให้แต่ละพวกแต่ละกลุ่ม (หรือแต่ละพรรค) ที่ล้วนเติบโตมาจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้แสดงความขัดแย้งแบบ “เห่าเพื่อป้องประโยชน์ตน” กันอีกเลย เพราะ “ความขัดแย้ง” แบบเน่าๆในสังคมไทยตอนนี้น่าจะมีมากเกินพอแล้วไม่ใช่หรือ?

ถือโอกาสนี้แหละ เข้าสู่การพูดคุยเรื่อง “ความขัดแย้งในสังคมไทย” ที่อยากคุยจริงๆเสียทีละเนาะ!

ต้องถือว่าในยุค “ดิจิทัล” ปัจจุบัน ที่เรื่องราวข่าวข้อมูล และ การสื่อสารเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และ กว้างขวางนี้  ผู้คนในสังคมไทยย่อมเห็นชัดมากขึ้นว่า “ความขัดแย้ง” ในหมู่มนุษย์ ทั้งในระดับสังคมโลกและในสังคมไทยนั้นมีอยู่จริง

แต่อย่าลืมติดตามแต่ในระดับสังคมโลก และ สังคมไทยจนลืมสังเกตความจัดแย้งในครอบครัว ในชุมชนที่เราอยู่ ในหมู่เพื่อนเรา หรือในที่ทำงาน ฯลฯ ที่อยู่ไกล้ๆตัวเองเสียละ!

เพราะนั่นแหละ จะเป็นตัวชี้ฉาย “ความขัดแย้ง” ให้เราเห็นได้ชัดว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะรับมือ และ จัดการกับมันอย่างไร จะยอมจำนน งอมืองอเท้า แบบไม่ต้องทำความเข้าใจ แบบยอมจำนน หรือจะต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขความขัดแย้งนั้น

ไม่ต้องหยุดติดตามหรือครุ่นคิดเพื่อหาข้อสรุปเรื่องความขัดแย้งระดับโลกหรอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีรัสเซียกับยูเครนและกลุ่ม “นาโต” (ที่มีอเมริกาเป็นหัวโจก)  เรื่องสาธารณรัฐประชนจีนกับสหรัฐอเมริกา เรื่องจีนแผ่นดินใหญ่กับจีนเกาะไต้หวัน เรื่องเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เรื่องอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย (ที่ฟังว่าจีนช่วยแก้ให้แล้ว) หรือเรื่องปาเลสไตน์กับอิสราเอล ฯลฯ

เพราะนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเกี่ยวข้องกับเราแน่ๆ ก็ลองคิดดูซิ ถ้าใครเกิดทะลึ่งพลาดมือพลาดเท้าไปกดปุ่มขีปนาวุธติดหัวนิวเคลียส์เข้าสักดอกคิดหรือว่านิวเคลียส์ทั้งหลายที่ถล่มตามมา (เพราะทุกฝ่ายล้วนมีอาวุธนิวเคลียส์ครอบครอง) มีหรือที่เราจะรอด?

แต่ตอนนี้ ยังไงก็อย่าลืมเสียละ ว่าเมืองไทยเรากำลังมีปรากฏการณ์ “ความขัดแย้ง” ทางการเมืองที่จะส่งผลกับปากท้องและสังคมของเราโดยตรงรออยู่เฉพาะหน้า ลองหาเวลาคิดและไตร่ตรองให้มากๆเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องนี้สักหน่อยก่อนจะดีไหม?

ก็คงแนะนำได้เพียงนิดๆหน่อยๆเท่านั้นแหละว่า ถ้าจะวิเคราะห์ความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองไทยยามนี้เพราะ “จำเป็นต้องตัดสินใจ” ว่าจะต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และจะใช้ทฤษฎี “ว่าด้วยความขัดแย้ง” (ที่นักทฤษฎีประจำ “วอร์รูม” ของพรรคใหญ่ๆ ที่มีบรรดา “สหาย” หรือ อดีตนักกิจกรรมรุ่น “14 ตุลาฯ” มักร่วมอยู่ด้วยเขาใช้กัน) ก็คงต้องพิจารณาเพียงเรื่องเดียว คือเรื่อง “ข้อมูล”!

คือต้องหาข้อมูล ที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพลของพรรคนั้นๆ หรือของผู้ที่เป็น “หัวโจก” ตัวจริงของพรรคนั้นๆ ให้ได้มากพอและอย่างเป็นระบบ ว่า พวกเหล่านั้นเคยทำอะไรที่มีประโยชน์ มีความก้าวหน้า มีความเป็นธรรม มีความพอเหมาะพอควรกับข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ของประเทศ  มีความซื่อสัตย์ไม่ฉ้อฉล หรือเป็นพวกปากหวานก้นเปรี้ยว หรือดูเหมือนเก่งแต่ไร้คุณธรรม  ใช้นโยบายที่ดูดีหรูเริ่ดแต่ลงท้ายคือฉ้อฉลปล้นชาติ เพื่อประโยชน์ตน โคตรเง่าตน และพวกพ้องบริวารตน ฯลฯ 

ถ้าวิเคราะห์แล้วพบว่าฝ่ายไหนที่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว เลว หรือต่ำช้าน่าอ้วกน้อยกว่า ก็เลือกฝ่ายนั้นเถอะะ! (เพราะต้องเลือก และ เพราะฟังว่าบรรดา “หัวโจก” นักการเมืองไทยยามนี้มักมีเนื้อหาและเจตนาในการ “เล่น” การเมืองที่มัก “เลว” ไม่ต่างกันมากนัก!)

ส่วนที่ว่า จะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายเผด็จการอะไรนั่น น่าจะเป็นเพียง “วาทกรรม” ละมั้ง น่าเบื่อ อย่าไปสนใจให้มากนักเลย!