ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ หลังจาก สำนักพระราชวัง ประกาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15.52 นาฬิกา ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นรัฐบาลได้ประกาศไว้ทุกข์ถวายความอาลัยเป็นเวลา 1 ปี สำนักพระราชวังมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559-21 มกราคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง กล่าวได้ว่าการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นข่าวที่สร้างความโศกเศร้าเสียใจแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ ที่ได้สูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย รวมถึงประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีน คริสต์ ซิกข์ และมุสลิม อยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องมุสลิมในฐานะเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ถึงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มีประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี แสดงความอาลัยครั้งนี้ว่า “ถือเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของปวงชนชาวไทยและแผ่นดินสยาม ยังความโศกเศร้าโทมนัสอย่างยิ่งต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช คือเอกองค์อัครศาสนูปถัมภก ผู้ทรงพระคุณอันใหญ่หลวงต่อศาสนาอิสลามและพสกนิกรชาวไทยมุสลิมอย่างหาที่สุดมิได้ จึงได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามต่อการสวรรคตว่า ข้าราชการและประชาชนทั่วไปให้แต่งกายสุภาพแบบธรรมดาทั่วไปที่ไม่ฉูดฉาด อ่านคำถวายอาลัยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรมุสลิมในเวลาก่อนละหมาดวันศุกร์ นำเสนอคุตบะห์ (ธรรมกถา) วันศุกร์ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ จัดกิจกรรม นิทรรศการ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านศาสนาอิสลาม และเจริญรอยตามพระยุคลบาท สืบสานพระราชปณิธาน เพื่อให้นำมาซึ่งความสมบูรณ์พูนสุขและความเจริญรุ่งเรืองของราชอาณาจักรไทยสืบไป ในโอกาสนี้ ผู้เขียนขอเรียบเรียงเรื่องราวนับตั้งแต่ครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่ง จากสถานีรถไฟจิตรลดา ทรงเยี่ยมราษฎร ๑๔ จังหวัดภาคใต้ เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2502 เริ่มตั้งแต่จังหวัดชุมพร จากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดสุดท้ายที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในครั้งนี้คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุกแห่งหนที่เสด็จพระราชดำเนินไป ตลอดเส้นทางล้วนมีราษฎรเดินทางมาคอยเฝ้าชมพระบารมีและเพื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์กันอย่างเนืองแน่น พร้อมกับนำผลไม้พื้นเมืองชนิดต่างๆ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และจัดการแสดงพื้นเมือง ขบวนแห่ ฯลฯ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูงสุด รวมระยะเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่จังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ 14 จังหวัด เป็นเวลาทั้งสิ้น 22 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งกลับถึงพระนครเมื่อเวลา 09.00 นาฬิกา ของวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2502 สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 15 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส นับตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๖ ตลอดระยะเวลา 49 วันที่เสด็จแปรพระราชฐานประทับแรมที่ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เป็นครั้งแรกนี้ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎรไปในแทบทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลหรือในท้องถิ่นทุรกันดารเพียงใด รวมถึงจังหวัดภาคใต้อื่นๆ ทรงมีพระราชปฏิสันถารอย่างใกล้ชิดกับข้าราชการและราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรและปัญหาที่ราษฎรได้ประสบ จากนั้นมาสำหรับราษฎรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสแล้ว นับได้ว่าแทบทุกปีได้มีโอกาสเฝ้าชมพระบารมีและเพื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ อย่างใกล้ชิด ในโอกาสที่แปรพระราชฐานมาประทับที่ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พร้อมกับการเกิดโครงการพัฒนาต่างๆ มากมายในพื้นที่ติดตามมา ทั้งจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี กระทั่งปัจจุบันมีโครงการพระราชดำริเฉพาะในจังหวัดนราธิวาสรวมแล้วนับร้อยโครงการ ที่สร้างคุณประโยชน์ให้ประชาชนทุกคน กล่าวได้ว่า พระบารมีของทุกพระองค์ได้ปกเกล้าปกกระหม่อมราษฎรอย่างมิเลือกชนชั้น วรรณะ ศาสนา สร้างความปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้ในขอบเขตทั่วประเทศ กระทั่งได้รับการกล่าวขวัญถึงจากนานาประเทศทั่วโลก ตราบทุกวันนี้ ชาวมลายูมุสลิมหรือชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกนามพระองค์ท่านเป็นภาษามลายูว่า “รายอกีตอ” โดยคำว่า “รายอ” แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ หรือในหลวง คำว่า “กีตอ” แปลว่า เรา หรือ ของเรา ดังนั้นคำว่า “รายอกีตอ” จึงหมายความถึง “ในหลวงของเรา” การที่ชาวมลายูมุสลิมหรือชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ เรียกขานนามพระองค์ท่านจากเดิมว่า “รายอซีแย” หรือ พระเจ้าแผ่นดินสยาม มาเป็นคำว่า “รายอกีตอ” อันแสดงถึง การยอมรับ การไว้วางใจ ความเคารพรัก ความเลื่อมใสศรัทธา หรือมีความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง ล้วนมีที่มาที่ไปและมิใช่เป็นเรื่องธรรมดายิ่ง ดังเช่นที่ ว่าที่ร้อยโท ดิลก ศิริวัลลภ “ล่ามภาษามลายู” ประจำขบวนเสด็จฯ เคยกล่าวถึงและอธิบายความหมายอยู่เสมอๆ และหรือต่อมาเมื่อเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้รอบใหม่ในพื้นที่ที่เรียกได้ว่ามีสภาวะพิเศษเฉพาะ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา หรือความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ก่อนจะมีการกล่าวถึงยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน เหล่านี้ล้วนมีที่มาที่ไป และสะท้อนถึงพระราชกรณียกิจในหลากหลายด้าน ที่ทรงทุ่มเทเพื่อพสกนิกรทุกคน