ยูร   กมลเสรีรัตน์

[email protected]

 

3.เบ้าหลอมและบ่มเพาะ(ต่อ)

“สมัยนั้นหนังสือวัดเกาะ พิมพ์เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ”

อาจินต์  ปัญจพรรค์พูดเสียงดัง  ครั้งสนทนากันที่บ้านย่านสุทธิสารเมื่อนานมาแล้ว คำพูดค่อนข้างโผงผางเป็นบุคลิกเฉพาะตัว  คนที่รู้นิสัยใจคอถือว่าเป็นเรื่องปกติ  เพราะรู้ดีว่าเป็นคนพูดตรง  แท้จริงแล้วเป็นคนที่จริงใจและมีเมตตาธรรมสูง

“มีเรื่องโสนน้อยเรือนงาม,พระรถ-เมรี,นางสิบสอง,ปลาบู่ทอง  และอีกหลายเรื่อง พิมพ์เรื่องจักร ๆ วงศ์เยอะมาก  อีกครึ่งของหน้าปกจะพิมพ์เป็นกลอนว่า...

เล่มสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะนักหนา ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี ได้ลงพิมพ์คราวแรกแปลกแปลกเรื่อง อ่านแล้วเปลื้องความทุกข์เป็นสุขี เชิญซื้อไปอ่านฟังให้มั่งมี เจริญศรีสุขสวัสดิ์พิพัฒน์เอย”

วัดเกาะ มีชื่อเป็นทางการว่า วัดสัมพันธวงศ์ ย่านวัดเกาะเป็นส่วนหนึ่งของสำเพ็ง เป้นชุมชนจีนที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีโรงพิมพ์ของเอกชนยุคบุกเบิก เรียกว่า โรงพิมพ์วัดเกาะ เพราะตั้งอยู่ใกล้วัดเกาะ ชื่อจริงคือ โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ  

หนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยโรงพิมพ์วัดเกาะหรือโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการพิมพ์เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ และนิทานพื้นบ้าน นอกนั้นเป็นพงศาวดารจีนและประเภทอื่น ๆ ได้แก่ พระอภัยมรี อิเหนา รามเกียรติ์ ขุนช้าง-ขุนแผน สังข์ทอง  คาวี มณีพิชัย แก้วหน้าม้า พระรถ-เมรี นางอุทัย เป็นอาทิ

ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในรัชกาลที่5 หนังสือวัดเกาะยุคแรก พิมพ์ขนาด 8 หน้ายกพิเศษ ปกเป็นกระดาษปอนด์มันหรือลายน้ำ เรียกว่าสมุดฝรั่ง มีบทกลอนที่โด่งดังมาก ซึ่งจะบอกราคาและสถานที่ตั้ง เขียนโดยนายบุศย์ ดังบทกลอนที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ยกมาข้างต้น หนังสือวัดเกาะยุคแรกราคาเล่มละ 1 สลึง

ในเวลาต่อมา หนังสือวัดเกาะจัดพิมพ์ขนาด 16 หน้ายก หนาราว 2-3 ยก หน้าปกเป็นกระดาษสีต่าง ๆ มีข้อความอยู่ในกรอบคือ ชื่อเรื่อง ลำดับเล่ม  กลอนอันเป็นเสมือนคำขวัญเชิญชวนประจำโรงพิมพ์ ปกล่างซ้ายมีคำว่า “วัด” ด้านขวามีคำว่า “เกาะ” ส่วนตรงกลางพิมพ์คำว่า “รัตนโกสินท์ศก” ยุคต่อมาเมื่อพ.ศ. 2490 โรงพิมพ์จ้างช่างวาดภาพปกตามเนื้อเรื่องข้างใน หน้าปกมีชื่อเรื่อง ลำดับเล่ม  ชื่อโรงพิมพ์ จังหวัดที่พิมพ์และราคา ซึ่งยุคหลังนี้ราคาเล่มละ 1 บาท

“นอกจากเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ แล้ว หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่านตอนยังเด็ก พ่อสั่งซื้อทางไปรษณีย์”อาจินต์ ปัญจพรรค์เล่าต่อ“ไม่ได้ออกประจำ นาน ๆ ออกที คือ ‘ลูกเสือสยาม’ เล่มใหญ่เท่ากับหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นวารสารเล่มแรกที่ผมได้อ่าน อ่านสนุก มีเรื่องเกี่ยวกับลูกเสือ เช่น ลูกเสือผจญภัย ลูกเสือจับผู้ร้าย อะไรต่าง ๆ หลังปกมี ‘แจ้งความห้างนายเลิศ’  นายเลิศ ที่เป็นเจ้าของรถเมล์ขาว  รถเมล์นายเลิศเป็นเจ้าแรกที่วิ่งในกรุงเทพฯ  ตอนหลังเลิกวิ่ง  มีรถเมล์น้ำเงิน รถเมล์แดงมาแทน  ทุกเล่มจะต้องมี ‘แจ้งความห้างนายเลิศ’  แทนที่จะโฆษณาสินค้าของตัวเอง กลับพิมพ์ตัวหนังสือโต ๆ เต็มหน้าเลย สอนเด็กไม่ให้ริสูบบุหรี่  จะพิมพ์ตัวโต ๆ ว่า”

อาจินต์  ปัญจพรรค์เว้นจังหวะเล็กน้อย  แล้วพูดขึ้นเสียงดัง ฟังชัดทุกถ้อยคำ

“การสูบบุหรี่นั้น เอาเงินไปทิ้งน้ำเสียยังดีกว่า เพราะการเอาเงินไปทิ้งน้ำ  นานวันเข้าอาจมีคนมาพบ  เอาไปทำประโยชน์ได้  แต่การสูบบุหรี่เป็นการเผาเงินให้เป็นขี้เถ้าไปโดยเปล่าประโยชน์  หนังสือ ‘ลูกเสือสยาม’ของพ่อ พ่อหวงมาก จะเก็บเรียงฉบับไว้ในตู้อย่างดี”

อาจินต์  ปัญจพรรค์เขียนเล่าไว้เกี่ยวกับหนังสืออ่านที่บ้าน ซึ่งเป็นการบ่มเพาะความรักในการอ่านและยังเป็นเบ้าหลอมที่ค่อย ๆ  หล่อหลอมเขาให้เติบโตไปสู่การอ่านในวันข้างหน้า ในเรื่อง “วัยบริสุทธิ์”ว่า...

“ตอนเช้า ๆ มีคนถีบจักรยานมาส่งหนังสือพิมพ์  ฉันเริ่มหัดอ่านข่าวที่พาดหัวตัวโต ๆ  ส่วนพี่ ๆ อ่านข่าวเป็นเรื่องราวได้ตลอดแล้ว พี่สาวฉันอ่านนิยายหน้ากลางให้ป้าฟัง หนังสือนี้ต้องคลี่อ่าน แล้วพับให้เรียบร้อย  เพราะตอนเย็นพ่อจะกลับมาอ่านละเอียดทั้งฉบับ”

เหตุที่ป้าให้พี่สาวคือชอุ่ม  ปัญจพรรค์ อ่านให้ฟัง เพราะป้าจะได้ทำงานบ้านไปด้วย  จะได้ไม่เสียงาน  ด้วยเหตุนี้เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์จึงได้รับการบ่มเพาะการอ่านอีกทางหนึ่ง โดยการฟัง ซึ่งค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปทีละน้อย ทำให้เป็นคนรักการอ่าน

นิยายหน้ากลางที่ชอุ่ม  ปัญจพรรค์อ่านให้ป้าฟังในตอนนั้นคือเรื่อง “ยอดขุนพล” ของยาขอบ นามปากกาของโชติ  แพร่พันธุ์   เรื่องยาวดังกล่าวนี้คนอ่านติดกันงอมแงมทั่วบ้านทั่วเมือง  ซึ่ง

เป็นปฐมบทของนิยายอิงพงศาวดารเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ”อันลือลั่นสั่นสะเทือนทั่วทั้งปฐพี  เมื่อพี่สาวอ่านถึงตอนมีชื่อตัวละครและชื่อเมืองของพม่า  เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์ฟังไม่รู้เรื่อง  เพราะเป็นสำเนียงพม่า  แต่เขากลับชอบดูโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตาม  เพราะรู้สึกตื่นตาตื่นตามประสาเด็ก...

“...ฉันชอบดูโฆษณาสินค้า ซึ่งมีคำแปลก ๆ และมีรูปคนและสินค้านั้น ๆ เช่น โฆษณาขายโอวัลติน ขายยาอุทัย  ขายยานัตถุ์  ขายน้ำมันตับปลา วอเตอเบอร์รี่ มีคนเอาปลาตัวใหญ่สะพายหลัง  มีโฆษณาขายเกลือ ‘ครูเช่น’ เป็นรูปฝรั่งแก่มีหนวดเครา  สมมุติตัวเองเป็นคุณปู่ครูเช่น ยานี้บำรุงร่างกายคนสูงอายุ ป้าซื้อมากินนาน ๆ ครั้ง เพราะหมอแนะนำว่าร่างกายของป้าขาดเกลือแร่...ฉันชอบดูโฆษณาสินค้าในหนังสือพิมพ์ บางทีก็มีปัญหาให้ทายชิงรางวัล  พวกเราก็ต่างคนต่างคิด แล้วเขียนคำใส่ซองส่งไปชิงรางวัล  แต่ไม่เคยได้ผลเลย...”

ในสมัยนั้นเขาเล่าว่ายังไม่มีการโฆษณาสินค้าในวิทยุ  ซึ่งวิทยุมีแค่สถานีเดียวและเป็นของราชการคือ กรมประชาสัมพันธ์  จะมีการโฆษณาสินค้าในหนังสือพิมพ์และป้ายติดตามเสาไฟฟ้า  เขาจึงเห็นในหนังสือพิมพ์และอ่านโฆษณาสินค้าต่าง ๆ ตามป้ายที่ติดเสาไฟฟ้า ดังที่เขาเขียนเล่าไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้...

“ยาแก้ปวดหัวทั่วไปเรียกว่า  แอสไพริน  ต่อมา มียาแก้ปวดหัวชื่อภาษาไทยว่า ‘ศะบาย’ แล้วก็มียาชื่อ ‘สองนาที’ ทำตราเป็นรูปนาฬิกากำลังเดินไปได้ 2 นาที  มีความหมายว่า กินยานี้ 2 นาที ก็หายปวดหัว  และมีคำกลอนโฆษณาชักชวนว่า

สองนาทีมีนามตามสามารถ แก้ปวดหัวหายประหลาดสมชื่อว่า สองนาที สองนาที นาฬิกา ไม่หายจริงดังว่าท้าคืนเงิน คำกลอนนี้เป็นเครื่องโฆษณาได้อย่างดี  มีคนนิยมกินยา  2 นาทีนี้กันมาก”

เขายังเล่าเกร็ดไว้ในหนังสือเล่มนี้ในแง่ขำเกี่ยวกับยาถ่ายของของร้านขายยาที่ทำขาย  เนื่องจากยาถ่ายของโรงพยาบาลคือ ดีเกลือกับน้ำมันละหุ่ง แม้จะได้ผลดี แต่กินยาก เพราะมีรสขมมาก ร้านขายยาจึงทำขาย ตั้งชื่อเพื่อบอกถึงสรรพคุณว่าได้ผลดีเช่น “ป.ต.อ.” ย่อมาจากปืนต่อสู้อากาศยาน...

“ยาถ่ายป.ต.อ. หมายความว่า กินแล้วระบายราวกับยิงปืนพรวด ๆ ออกมา คำพวกนี้แพร่หลายประจำยุค ถูกนำไปใช้เป็นคำสะแลงแปลได้หลายอย่าง พวกจำอวดเอาเล่นว่า ป.ต.อ.คือ  

 

 

‘ไปตงอาว’ นัยว่าหมู่บ้านตงอาวของจังหวัดทางเหนือมีซ่องโสเภณี มีคนรู้จักทั่ว  แต่คำสะแลงป.ต.อ.ทั่วประเทศ ใช้เป็นศัพท์เรียกเหล้าเถื่อน หมายความว่า ‘ไปต้มเอง’...”