ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง มีบางพรรคการเมืองจุดประเด็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาหาเสียงกับพี่น้องประชาชน ซึ่งหากนับย้อนไป ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ หากจะแก้ไขกันอีก ก็จะเป็นฉบับที่ 21 ส่วนจะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองพรรคนั้น ได้รับเลือกเข้าไปเป็นเสียงข้างมากเพียงพอที่จะผลักดันนโยบายดังกล่าวหรือไม่ เพราะถือเป็นสัญญาประชาคม

อย่างไรก็ตาม อมตะวาจาของ “ผู้มาก่อนกาล” อย่าง พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านได้เคยให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเขียนรัฐธรรมนูญของไทยไว้ และได้มีการนำมาเผยแพร่ซ้ำในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2554 จึงขออนุญาตหยิบยกมานำเสนออีกครั้งเพื่อจะได้พินิจพิเคราะห์กันด้วยปัญญา ดังนี้

“รัฐธรรมนูญของเราทุกฉบับ ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นด้วยความกลัวอะไรอย่างหนึ่งเสมอ เช่นกลัวบุคคลคณะใด หรือกลัวอะไรต่ออะไรเป็นบางอย่าง

ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2475 ที่พระราชทานในรัชกาลที่ 7 นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นด้วยความกลัวพวกเจ้ามาตรา 11 กำหนดว่าผู้ที่มีฐานันดรศักดิ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น สมัครเป็นผู้แทนก็ไม่ได้ เป็นอะไรก็ไม่ได้หมด

ทีนี้ต่อมาก็ถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2489 อันนี้ผมมีส่วนร่างด้วย เป็นเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว ฉบับนี้เมื่อร่างเสร็จ นำเสนอต่อสภา ออกจะเป็นฉบับที่ปราศจากความกลัว... ...แต่อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับ 2489 เมื่อเข้าสู่สภา ความกลัวปรากฏออกมาให้แลเห็นได้ชัด ว่าทางฝ่ายผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นกลัวผู้แทนราษฎรประเภทหนึ่ง คือประเภทที่ราษฎรเลือกตั้งเข้ามาโดยตรง ว่าจะมาทำร้ายท่านหรือมามีอำนาจเหนือท่าน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญ2489 ก็ได้รับการแปรญัตติในสภาให้เปลี่ยนรูปไปจากร่างเดิม

ตามรูปเดิมนั้น (ต้นร่างรัฐธรรมนูญ) สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นมีสิทธิลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรไม่ไว้ใจแล้ว รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ต้องลาออก รูปเดิมนี้ถูกแปรญัตติมาเป็นว่า ต้องให้สภาสูงลงมติด้วย ไม่ยอมให้สภาผู้แทนฯ ลงมติไม่ไว้วางใจแต่ฝ่ายเดียว มติที่จะไล่รัฐบาลออกได้ต้องเป็นมติทั้งสองสภา

ความกลัวมันเกิดขึ้นตอนนั้นพอถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ซึ่งมีการสร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ครั้งแรก) ขึ้น ในบทรัฐธรรมนูญนี้ก็มีความกลัวปรากฏให้เห็นได้ชัด รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เป็นรัฐธรรมนูญที่กลัวทหาร กลัวทหารจะเข้ายึดอำนาจ กลัวทหารจะก่อการรัฐประหาร กลัวทหารจะปฏิวัติเพราะฉะนั้นจึงมิได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นมากมายหลายประการ เกี่ยวกับการออกคำสั่งเคลื่อนกำลังของทหาร การประกาศกฎอัยการศึก ได้มีบทบัญญัติผูกมัดไว้มากมายไม่ให้ทำได้ง่ายๆ เป็นต้นว่าการย้ายกำลังทหารจะต้องมีพระบรมราชโองการ ผู้บังคับบัญชาทหารจะไปทำเสียฝ่ายเดียวไม่ได้ การประกาศใช้กฎอัยการศึกจะต้องมีเงื่อนไขอย่างนั้นอย่างนี้ ในที่สุดก็แสดงให้เห็นชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้นกลัวทหาร

รัฐธรรมนูญฉบับ 2511 ที่ยกเลิกไป ก็แสดงให้เห็นชัดว่ามีความกลัวอีก รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลัวผู้แทนราษฎร กลัวว่าผู้แทนราษฎรจะมาแย่งตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกันแล้วมาก่อกวนความวุ่นวาย ผู้แทนราษฎรประเภทดาวจะเข้ามาโวยวายในที่ประชุมสภา แล้วก็กลัวประการอื่นๆ อีกหลายอย่าง ผลก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2511 นี้ตัดอำนาจผู้แทนราษฎรไปมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ยอมให้ผู้แทนราษฎรได้เข้ารับตำแหน่งการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือแม้แต่เลขานุการรัฐมนตรี

สรุปแล้วรัฐธรรมนูญของเราทุกฉบับร่างกันขึ้นมาด้วยความกลัวหรือด้วยภยาคติทั้งนั้น ของอะไรที่ทำด้วยภยาคติจะดีไม่ได้ เราทำอะไรด้วยความกลัวหรือความไม่ไว้วางใจกันแล้ว มันจะให้เป็นผลสำเร็จเรียบร้อย หรือเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายไม่ได้ จะต้องมีคนไม่พอใจ อาจมีอุปสรรค มีการขัดข้องในอนาคต

รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปนี้ ผมเห็นว่าเราจะต้องทิ้งความกลัวให้หมด และจะต้องเชื่อกันเองจริงๆ สักทีหนึ่ง (คึกฤทธิ์ ปราโมช คัดจากหนังสือ "ผลงานและชีวิตทางการเมืองของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับประชาธิปไตย" ของ สามน กฤษณะ)