ในห้วงที่มีการเลือกตั้ง และมีการช่วงชิงอำนาจในการจับขั้วกันจัดตั้งรัฐบาล กระทั่งมีการพูดถึงว่าบางพรรคการเมือง พร้อมยินยอมกับทุกเงื่อนไขเพียงเพื่อให้เป็นรัฐบาล จนเกิดความกังขาว่า ความต้องการเข้าสู่อำนาจอย่างกระเหี้ยนกระหือรือนั้น เป็นไปด้วยความปรารถนาอันแรงกล้า ในการจะเข้ามาทำหน้าที่เพื่อประชาชนและประเทศชาติ หรือเพื่อตอบสนองประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ดังที่เรียกว่า ถอนทุนคืน

ซึ่งที่ผ่านมา ก็มักจะพบข้อมูลหรือการกระทำความผิดในการทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ ที่มีความสลับซับซ้อนของบรรดาคนการเมือง จึงขอนำรีวิวช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสำหรับคดีทุจริตของนักการเมืองไทย เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับประชาชนในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพื่อประกอบการตัดสินใจ กับคำว่า “โกงแต่มีผลงานก็ไม่เป็นไร” หรือ “โกงแต่ประชาชนได้ประโยชน์ด้วยก็ไม่เป็นไร”จริงหรือ?

โดยเพจเฟซบุ๊กของ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง

“10 ปี คดีโกงของนักการเมืองไทย” ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลจากสื่อมวลชน เฉพาะคดีที่มีการชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. การตัดสินคดีโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถึง ปัจจุบัน  โดยดร. มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ดังนี้

“…สามารถรวบรวมได้ทั้งหมด 61 คดี นักการเมือง 68 คน ไม่นับรวมคดีตัดสิทธิ์ทางการเมืองเพราะละเมิดจริยธรรมร้ายแรงอีก 2 คดี

คดีโกงเหล่านี้เป็นหลักฐานความเลวร้ายของนักการเมืองทั้งจากพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีคดีที่ตรวจพบมากเรียงตามลำดับ ดังนี้

1) โกงเลือกตั้ง 25 คดี

2) ยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ 9 คดี

3) โกงจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล 8 คดี

4) เอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง 8 คดี

5) ประพฤติมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 3 คดี

6) แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ 2 คดี

7) ร่ำรวยผิดปกติ 2 คดี

8) บุกรุกที่ดินหลวง 2 คดี

9) เรียกรับสินบน 1 คดี

10) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 1 คดี

เฉพาะ 8 คดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล มีมูลค่าความเสียหายรวมกัน ราว 5.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยในชีวิต สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ สุขอนามัยของเด็ก ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ เป็นต้น

ในการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ พบประเด็นน่าสนใจ เช่น

1. 2 คดีที่ถูกระบุว่าสร้างความเสียหายให้ประเทศมูลค่าสุงสุดคือ คดีโครงการจำนำข้าว (มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท) และคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน (มูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท)…” (หมายเหตุ: คดีโกงของนักการเมืองในที่นี้ หมายถึง คดีของ ส.ส. ส.ว. สนช. รัฐมนตรี ในอดีตและปัจจุบัน ที่ปรากฏข่าวตั้งแต่ปี 2555 ถึง 8 เมษายน 2566)

(อ่านต่อฉบับหน้า)