ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

          

ชีวิตวัยหนุ่ม

1.สู่รั้วจามจุรี-หัวใจระเริง

เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์เรียนอยู่ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 1 ก็ย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 2 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์  พระนคร สมัยนั้นทางการยังไม่ใช้ว่า “กรุงเทพฯ” จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6  แววการเขียนของเขาฉายออกมาให้เห็นตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3  

เทียบได้กับม.1 ในปัจจุบัน  เมื่อคุณครูทองอยู่ ครูประชั้น ซึ่งสอนเกือบทุกวิชา ให้นักเรียนเขียนเรียงความเรื่อง“บ้านของข้าพเจ้า” ปรากฏว่าเด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์เขียนเรียงความได้อันดับ 1 ของชั้น ได้รางวัลเป็นสมุด 1 โหล ทำให้เขาดีใจและภูมิใจมาก

ช่วงเริ่มเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2  เมื่อปีพ.ศ. 2484   เขาสอบเข้าเรียนต่อชั้นเตรียมอุดมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เขาทำคะแนนได้ดีเยี่ยมในวิชาเรียงความและได้คะแนนดีในวิชาคำนวณด้วย ช่วงเรียนอยู่เตรียมจุฬา ฯปี 1-2 (ม.5-ม.6 ในปัจจุบัน) มีข้อสอบให้แปลโคลงสี่สุภาพเป็นร้อยแก้ว เขากลับแปลเป็นกลอนสุภาพหรือกลอนแปด  อาจารย์กิ่งแก้ว ครูสอนภาษาไทยชมว่า “เธอทำได้ดีมากอาจินต์ แต่ผิดเงื่อนไข”

กระนั้นอาจารย์กิ่งแก้วก็ให้สอบได้  ก่อนปิดเทอม  อาจารย์กิ่งแก้วให้การบ้านเขียนเรียงความชื่อเรื่องประมาณว่า “ปิดเทอมของฉัน” เด็กชายอาจินต์  ปัญจพรรค์เขียนเรียงความเป็นนิราศกลอนแปด  เมื่อได้สมุดเรียงความคืนจากอาจารย์กิ่งแก้ว มีข้อความเขียนไว้บนมุมว่า ‘ดีที่สุด’

การพรางไฟมีมาตั้งแต่ญี่ปุ่นประกาศสงครามโลกครั้งที่ 2  รัฐบาลเร่งรัดให้มหาวิทยาลัยผลิตวิศวกรกับนักวิทยาศาสตร์โดยเร็ว  ดังนั้น นักเรียนเตรียมอุดมปี 2  แผนกวิศวฯกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งปกติเรียนจบหลักสูตร 1 ปี ต้องเรียนให้จบในครึ่งปี

 นั่นก็คือนักเรียนเตรียมวิศวฯรุ่นเร่ง ปีครึ่งสอบสองชั้น ในภาวะสงครามก็ยากลำบากอยู่แล้ว  แต่นักเรียนเตรียมวิศวฯต้องกินอาหารเย็นที่โรงเรียน ในขณะที่นักเรียนคณะอื่นกลับบ้านกัน หมดแล้ว  รอเวลาเรียน 5 โมงเย็นจนถึง 2 ทุ่ม โดยพรางไฟในห้องเรียน  ดังที่เขาเล่าไว้...

“...เลิกเรียนแล้ว ถนนเงียบกริบ รถเมล์มีน้อยคัน ในความมืด เรากลับบ้านเพื่อมาพบสภาพเช่นนั้นอีกในวันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าผ่านการเรียนอันบีบคั้นเช่นนั้นมาได้และขึ้นสู่จุฬาฯ”

ในขณะเรียนเตรียมจุฬาฯปี 2 ถือได้ว่าอาจินต์  ปัญจพรรค์เป็นนักเรียนที่เรียนดีชั้นเยี่ยมทีเดียว  เพราะคะแนนที่เขาสอบได้ก่อนเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเล่าไว้ใน “คำสารภาพของกากจุฬาฯ”ว่า...

“...ข้าพเจ้าไม่โม้หรอก ไปดูคะแนนที่ข้าพเจ้าเคยทำไว้ สำหรับอนาคตอันงดงามในจุฬาฯ คำนวณ 99 % เป็นรองจากคนท้อปทั้งโรงเรียนเปอร์เซ็นเดียว...”

เมื่อจบชั้นเตรียมจุฬา ฯปี  2 เข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในยุคนั้นหนังคาวบอยกำลังฮิตกันมาก  อาจินต์  ปัญจพรรค์ในวัยคะนอง อายุเพียง 17 ปี ไว้ผมยาวเหมือนดาราในหนังคาวบอยและหัดสูบบุหรี่ตามแฟชั่นนิยมของวัยรุ่นในยุคนั้น ระเริงกับรายได้จากการเล่นการพนัน...

“ปีทั้งปีข้าพเจ้าเข้าห้องเล็คเช่อร์น้อยกว่าหนีไปดูหนัง เข้าแล็บน้อยกว่าชั่วโมงเชียร์กีฬาและเข้าเวิ้คช้อปน้อยกว่าเข้าสนามม้า ตลอดปีข้าพเจ้าเลือกตำราเล่มที่ใหญ่ที่สุดมาถือทำโก้ได้ตลอดทุกวัน มีสมุดเล่มหนึ่ง ในสมุดนั้นจดวิชาต่าง ๆ อย่างตกหล่น ตัวหนังสือโย้เย้ด้วยความง่วงนอน ส่วนมากเขียนเป็นรูปต้นหมากรากไม้ หน้าคน หน้าอาจารย์ รูปดาว รูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม สุดแต่มือบอนไม่รักดีจะดึงไปให้เขียนเป็นสวรรค์นรก”

ในปีแรกที่อาจินต์  ปัญจพรรค์เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เขาได้ใช้ความสามารถด้านการเขียน  โดยเริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรก ใช้สูตรอย่างที่นักเขียนหน้าใหม่ในยุคนั้นนิยมเขียนกันเหมือนเป็นแบบฝึกหัดคือ สูตรหญิงมีชู้  ผู้หญิงมีผัวแล้วนัดพบกับชาย

 ใช้ฉากใกล้ตัว ไม่ไกลจากหลุมหลบภัย  เพราะช่วงนั้นอยู่ในภาวะสงคราม จบลงด้วยการยิงกันตาย  เป็นพล็อตเรื่องง่าย ๆ เกี่ยวกับกามารมณ์ของมนุษย์  เขาเขียนส่งไป 2-3 เรื่อง ลงในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “ฉุยฉาย”และ “ประชากร”

ขณะอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยประกาศปิดไม่มีกำหนด  เพราะกรุงเทพฯและชานเมืองถูกทิ้งระเบิดอย่างหนัก  เขาต้องอพยพตามครอบครัวไปอยู่บ้านญาติที่สุพรรณบุรี ที่นี่คือ แหล่งอบายมุขที่ชุกชุม ชีวิตในระหว่างสงครามในช่วงอยู่ในชนบทที่สุพรรณบุรี ทำให้ห่างไกลจากตำรา ไม่มีกะ จิตกะใจจะนึกถึงมัน มองเห็นแต่บ่อนการพนันที่เกิดขึ้นทุกย่าน  ชาวบ้านเล่นการพนันเป็นการเสี่ยง โชคและเป็นการหาเลี้ยงชีพในระหว่างสงคราม  อาจินต์  ปัญจพรรค์ในวัยหนุ่มรุ่นกระโจนเข้าไป ในบ่อนการพนัน  ทำหน้าที่แจกไพ่  ดังที่เขาเล่าไว้ใน “คำสารภาพของกากจุฬาฯ”และ “วิธีเรียนไม่ให้สำเร็จ”...

“...ข้าพเจ้ามีรายได้จากการเป็นผู้แจกไพ่ในบ่อนวันละ  50 บาท หลายวันหลายเดือนและนับเป็นปี ข้าพเจ้าเป็นเด็กหนุ่มผู้มีเงินเหลือเฟือ....”

เขามีรายได้จากการแจกไพ่วันละ 50 บาท ในสมัยนั้นถือว่าเป็นรายได้ที่มากมายมหาศาลสำหรับเด็กหนุ่มอายุเพียง 17 ปี ยังไม่ได้ทำงาน หรือแม้ทำงานแล้ว  ข้าราชการในสมัยนั้นยังไม่ได้เงินเดือนมากเท่านี้  เรียกว่าได้เงินมาง่ายดาย  แต่ในขณะเดียวกันก็ละลายหายไปได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกัน เพราะเขาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย  

           

“เรื่องจริงคือ เสน่ห์ของความจริง”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)