เสือตัวที่ 6

การดำรงอยู่ของความเป็นรัฐย่อมต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญอันเป็นพื้นฐานในการบ่งบอกถึงความเป็นชาติที่เป็นเอกภาพในอาณาเขตและความมีบูรณภาพแห่งอาณาเขตอย่างน้อย 7 ประการ คือ  1.ความมีอธิปไตยเป็นของตนเองที่สามารถทำอะไรก็ได้ในขอบเขตอำนาจแห่งรัฐของตน 2.การมีภาษาที่ใช้เป็นทางการเป็นของตนเอง 3.การมีสกุลเงินตราอันเป็นที่ยอมรับในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ 4.การมีเอกลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมที่ยึดโยงกันมาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน 5.ระบบกฎหมาย 6.การมีกองกำลังทหารของชาติที่ชัดเจน 7.การมีสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตลอดจนการได้รับการยอมรับในองค์กรระหว่างประเทศ เหล่านั้นคือตัวชี้วัดถึงความเป็นเอกภาพของชาติที่เป็น  เอกราชที่ทุกรัฐชาติต่างต้องแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งห้วงเวลานี้  กลุ่มขบวนการแบ่งแยกการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากรัฐไทย กำลังเร่งช่วงชิงให้ได้มาซึ่งองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญเหล่านั้นมาครอบครองให้ได้มากที่สุดเพื่อพวกเขาจะได้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายของพวกเขานั่นคือเอกภาพของความเป็นรัฐที่ทุกชาจิทุกภาษาให้การยอมรับในที่สุด

ห้วงเวลาที่ผ่านมาในระยะหลังที่ฝ่ายขบวนการนี้ใช้ความพยายามให้นานาชาติเห็นว่าในพื้นที่นี้มีการต่อสู้ของคนในพื้นถิ่นกับรัฐผู้ปกครองเพื่อมุ่งเป้าไปที่การก่อความไม่สงบในพื้นที่ให้เห็นว่าในพื้นที่อยู่ในสภาวะการขัดแย้งด้วยอาวุธอันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสิทธิในการกำหนดใจตนเองของคนในพื้นนั้นไม่บรรลุผล   จึงปรับแนวทางการต่อสู้มาเป็นการต่อสู้ทางความคิดเป็นหลัก โดยมุ่งสะสมบ่มเพาะ ปลุกระดมคนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ปลายด้ามขวานให้เกิดความเห็นต่างจากรัฐอย่างสุดโต่ง เพื่อให้คนเหล่านี้ เป็นแนวร่วมและเป็นพลังสำคัญในเวทีการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัก โดยสร้างความแปลกแยกแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของรัฐ ที่พยายามยึดโยงประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นทั้งทางกายภาพ(การแต่งกาย) และทางจิตวิญญาณ (แนวความคิดและความเชื่อ) อย่างสุดลิ่ม สุดโต่ง อันเป็นการผนึกกำลังความคิด จิตวิญญาณของคนในพื้นที่เข้าเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเหนียวแน่น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการแบ่งแยกคนในพื้นที่ท้องถิ่นให้ออกห่างจากคนส่วนใหญ่ของรัฐมากขึ้นๆ จนกลายเป็นความแตกต่างที่ไม่สามารถหลอมรวมหรืออยู่ร่วมกันได้

กิจกรรมอันหลากหลายและมีความถี่มากขึ้นจึงปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ อาทิ กิจกรรม MALAYU RAYA เมื่อวันที่ 24 เม.ย.66 กลุ่มเยาวชนเปอร์มูดอ ได้นัดร่วมตัวจัดกิจกรรม MALAYU RAYA ครั้งที่ 2  ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี กิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากถึงประมาณ 10,000 คน โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองตะลุบันขึ้นกล่าวเปิดงานและกล่าวตอนรับกลุ่มเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรม และต่อมามีนายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ขึ้นเวทีกล่าวพบปะกลุ่มเยาวชน โดยได้พูดเกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกายและการทำซุ้มประตูชัยของหมู่บ้านเพื่อเป็นการยกย่องถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และหลังจากนั้น มีการแสดง Art Performance เพื่อสื่อความหมายที่ตอกย้ำถึงความทรงจำทางประวัติศาสตร์เพียงส่วนเดียวที่บรรพบุรุษปู่ย่าตายายของพวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานในสมัยก่อนจากการรุกรานของศัตรูและการสูญเสียเอกราชของบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา โดยมีผู้แสดงหลักคือ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มอ.ปัตตานี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Patani Artspace อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังจากนั้น นายฮาซัน ยามาดีบุ ได้ขึ้นเวทีกล่าวพบปะกลุ่มเยาวชนโดยได้พูดตอกย้ำอีกครั้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกายชุดมลายูและชี้ให้เห็นความสำคัญของการทำซุ้มประตูชัยประจำหมู่บ้าน โดยเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายต้องรณรงค์ให้เยาวชนมีการอนุรักษ์และให้มีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นรวมทั้งมีการสืบทอดกิจกรรมนี้ต่อไปทุกๆ ปี

ช่วงท้ายของกิจกรรม MALAYU RAYA ได้มีการเชิญชวนกลุ่มเยาวชน เข้ามารวมตัวหน้าเวทีและร่วมกันร้องเพลง Ayuhai pemuda ต่อด้วยนายซาฮารี เจ๊ะหลง ประธานชมรมพ่อบ้านใจกล้า นำกล่าวคำปฏิญาณ ในขณะที่หน่วยงานความมั่นคงทำได้เพียงการเกาะติดการดำเนินกิจกรรมนี้โดยที่ไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงใดๆ ต่อกิจกรรมนี้ได้ ด้วยการจัดกิจกรรมรวมตัวของเยาวชนคนในพื้นที่ที่ผ่านมาและในครั้งนี้ มีกลยุทธ์ในการซ่อนแฝงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้คอย่างลุ่มลึก ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกระทำการใดๆ ที่ขัดขวางกิจกรรม ก็อาจเป็นการสร้างเงื่อนไขในการปลุกระดมให้คนในพื้นที่ออกห่างจากรัฐมากขึ้นไปอีกโดยกลุ่มขบวนการเห็นแล้วว่า การจัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวเป็นการเกาะอิงไปกับสิทธิในการสานต่อวัฒนธรรมอันสวยงามของคนในพื้นที่ที่ไม่อาจมีใครมาขัดขวางได้

ปรากฏการณ์ของกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับคำกล่าวของนายอุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยบีอาร์เอ็น ในประเด็นที่ว่าทุกเชื้อชาติที่มีอยู่บนหน้าแผ่นดินต้องการที่จะอยู่อย่างเท่าเทียมกันกับเชื้อชาติอื่นๆ บนพื้นฐานและคุณค่าความเป็นมนุษยชาติที่มีอารยะและการเคารพซึ่งกันและกัน และย้ำให้เห็นวิธีคิดที่สอดรับกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ของเยาวชนคนในพื้นที่รวมทั้งกิจกรรม MALAYU RAYA นี้ว่าคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้สามารถสร้างเครื่องมือเพื่อการรื้อฟื้นการสร้างเอกลักษณ์ของกลุ่มตนตลอดจนการเพิ่มพูนเกียรติยศของชาติ รูปแบบการบริหารพื้นที่ที่เป็นอธิปไตยของตน ระบบกฎหมาย อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถูกเห็นชอบให้เป็นประเด็นที่ต้องถูกถกแถลงในเอกสารหลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยเพื่อสันติสุข (General Principles of the PDP) ครั้งล่าสุดแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนกำลังเข้าใกล้เป้าหมายสุดท้ายของพวกเขานั่นคือเอกภาพของความเป็นรัฐที่นานาชาติให้การยอมรับ