มีคำกล่าวว่าประเทศไทยนั้นดี แต่ที่ไม่ดีคือ การเมืองนั้นไทย เห็นจะมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย ด้วยปัญหาการเมือง ได้เข้าไปกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ในหลายต่อหลายต่อหลายครั้ง จากทั้งการวางนโยบายที่ผิดพลาด เปิดช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้งขัดแข้งขัดขากัน ทำให้โครงการดีๆ ไปไม่ถึงฝั่ง และการปลุกระดมทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างขั้ว ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวบนท้องถิ่น ความรุนแรงต่างๆ

ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง มีการใช้ภาษาและผลิตวาทกรรม แบ่งขั้ว แยกข้าง ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายเสรีนิยม เผด็จการ หรือสุดแล้วแต่จะชี้นิ้วไปยังฝั่งตรงข้ามของตนเองแล้วสถาปนาให้ฝ่ายตรงข้ามนั้นเป็นอะไร ตามแต่พฤติกรรม และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้เห็นคล้อยตาม

ซึ่งการเลือกตั้ง ที่จะมาถึงนี้ บางฝ่ายคาดหวังให้ไปต่อ บางฝ่ายคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และบ้างก็คาดหวังกันว่า จะเป็นการเลือกตั้งที่จะนำพาแต่สิ่งดีๆ พัฒนาประเทศไทย ไม่วนลูปกลับสู่หลุมดำแห่งวิกฤติการเมืองแบบเดิมๆ

ก่อนอื่น เราจึงอยากจะพาไปทำความเข้าใจ “ภาษาการเมือง (ที่เข้าใจว่ายังสับสนกันอยู่เกี่ยวกับอุดมคติทางการเมือง)” กันเสียก่อน ตามทัศนะของ พระธรรมโกศาจารย์ พุททาสภิกขุ ได้แสดงเอาไว้ในการอบรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มพุทธศาสตร์ เรื่อง “ภาษาเกี่ยวกับการเมือง” (https://pagoda.or.th/buddhadasa/20230330.html) ดังได้นำความมาเผยแพร่ ดังนี้

“… ภาษาเกี่ยวกับการเมืองที่เข้าใจว่ายังสับสนกันอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้พูดกันไม่รู้เรื่อง หรือทำความเข้าใจกันไม่ได้ในการช่วยกันสร้างสันติภาพ โดยส่วนบุคคลก็ดี โดยส่วนสังคมก็ดี ภายในประเทศของเราก็ดี หรือว่าระหว่างที่เขาทำกันเป็นกิจกรรมของโลกก็ดี รู้สึกว่ามันมีปัญหาใหญ่อยู่ตรงที่พูดกันไม่รู้เรื่องหรือทำความเข้าใจกันไม่ได้นั่นเอง แม้แต่เกิดกับพวกเราในวงแคบแคบ ก็ยังพูดกันรู้เรื่อง ยังจะต้องมีการวิวาทกัน ในระหว่างพวกเดียวกันที่ว่าแยกออกกันเป็นกลุ่มน้อยๆ เช่นการกีฬา ก็ยังไม่เป็นการกีฬา เป็นการสร้างความเป็นอันธพาลในวงการกีฬา และก็ของมหาวิทยาลัยเดียวกัน อย่างนี้เป็นต้น นี่นับว่าเป็นเรื่องต่ำที่สุดแล้วที่พูดกันไม่รู้เรื่อง หรือมันมีอะไรดึงออกไป ดึงออกไปในทางที่จะพูดกันไม่รู้เรื่อง

ดังนั้น จึงให้หัวข้อว่า ภาษาที่เกี่ยวกับการเมือง หมายถึงที่เราจะพูดกันถึงในสิ่งที่เรียกว่าภาษา ภาษาเกี่ยวกับการเมืองที่ยังสับสนกันอยู่ในระหว่างคนทั้งหลายผู้พูดจากัน แต่มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งหมดในประเทศเราหรือทั่วไปทั้งโลกก็ได้ ขอให้ฟังไว้ เพื่อประโยชน์ที่มันกว้างขวางอย่างนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่งขอให้ทราบว่าคำต่างๆที่จะเอามาวินิจฉัย วิจารณ์กันในที่นี้จะถือเอาตามหลักของภาษาไทยคือตามความหมายภาษาไทย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าออกมาจากภาษาบาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำใหม่ๆ ที่เราจะผูกขึ้นใช้ เมื่อเทียบกันกับภาษาต่างประเทศนั้น เราก็นิยมใช้ภาษาไทยที่ถ่ายออกมาจากภาษาบาลี ยกตัวอย่างเช่นคำว่าประชาธิปไตย เป็นต้น เป็นภาษาบาลีโดยตรง

การพูดนี้ก็จะได้พูดกันไปเป็นข้อๆไป ที่ละอย่าง จบได้ในตัวมันเองแต่ละอย่างละอย่าง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มันฟังง่าย เข้าใจง่าย นั่นเอง แต่ถ้าไปต่อกันเข้า มันก็เป็นเรื่องเป็นราวไปได้เหมือนกัน เจตนาอันแท้จริงนั้นอยากจะพูดทีละคำที่ละอย่าง ขอให้สนใจฟังอย่างว่ามันเป็นเรื่องๆไป…” (อ่านต่อฉบับหน้า )