ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว เรื่อง“ภาษาการเมือง(ที่เข้าใจว่ายังสับสนกันอยู่เกี่ยวกับอุดมคติทางการเมือง)” ตามทัศนะของ พระธรรมโกศาจารย์ พุททาสภิกขุ ที่ได้แสดงเอาไว้ในการอบรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มพุทธศาสตร์ เรื่อง “ภาษาเกี่ยวกับการเมือง” (https://pagoda.or.th/buddhadasa/20230330.html) ดังได้นำความมาเผยแพร่ ดังนี้

“…1. การเมือง: การเมืองคือศีลธรรม

ข้อแรกที่สุดก็จะพูดคือคำว่า การเมือง มีใจความสำคัญว่า การเมืองนั้นคือศีลธรรม เพียงเท่านี้บางคนก็จะสงสัยแล้วหรือว่าไม่เชื่อแล้วว่าการเมืองคือศีลธรรม ก็เคยได้ยินกันแต่ในทางอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดี๋ยวนี้ก็รู้ว่าไอ้ การเมืองนี้มันเรื่องหลอกลวงเรื่องสกปรกแล้วมันจะเป็นศีลธรรมได้อย่างไร นี้เป็นหัวข้อใหญ่ที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนอื่นทั้งหมด เพราะทุกคนมันเกี่ยวข้องกันอยู่กับการเมืองโดยไม่รู้สึกตัว เราจะรู้หรือไม่รู้ เราจะรู้สึกหรือไม่รู้สึก จะรู้จักหรือไม่รู้จักเนี่ย มันไม่เป็นปัญหา มันเกี่ยวข้องกันอยู่แล้วกับทุกคน

คำว่าการเมืองนี่ ถ้าพูดกันให้มีความหมายชัดก็คือว่า ปัญหาต่างๆที่จะต้องสะสางเกี่ยวกับการที่คนมันอยู่รวมกันเป็นบ้านเป็นเมือง ถ้าคนแยกกันอยู่เป็นคนคน หรืออยู่กันเป็นกลุ่มน้อยน้อย 2-3 คน อย่างสมัยยุคหิน หรือว่าสัตว์เดรัจฉานที่เขาอยู่กัน เมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มเป็นสังคมใหญ่ คือไม่เป็นบ้านเป็นเมือง ไม่เป็นนคร อย่างนี้ ปัญหาทางการเมืองมันก็ไม่มี แต่ถ้าเกิดมาอยู่กันเป็นเมืองเป็นนครเข้า มันก็เป็นปัญหาเกิดขึ้นอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเราหลีกไปอยู่คนเดียวปัญหาไม่มี แต่ถ้ามาอยู่กันเป็นบ้านเป็นเมือง ปัญหามันก็มี การเมือง คือระบบการเมืองต่างๆก็มีขึ้นมาเพื่อจะแก้ไข หรือสะสางปัญหาเหล่านี้ จะสะสางมันได้อย่างไร มันก็ต้องทำให้ถูกวิธี ถูกหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ ถูกวิธีของความจริง ถูกวิธีของธรรมมะ ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติมันจึงจะแก้ปัญหาได้ ถ้าแก้ปัญหาการเมืองได้ การกระทำเหล่านั้นมันก็เป็นศีลธรรม

กล่าวกันแต่โดยย่อก่อนว่า ศีลธรรมคือสิ่งที่เป็นตันเหตุของคงวามสงบและภาวะของความสงบนั่นเอง ขอให้ทราบกันโดยความหมายว่าคำว่า ศีล นี้แปลว่าปกติ อย่าไปเข้าใจว่าสิกขาบท เป็นข้อข้อที่จะต้องรักษา เช่นศีล 5 เป็นต้น และนั้นมันแคบ เป็นรูปของเด็กๆ ถ้าผู้ใหญ่ที่รู้หนังสือก็ต้องรู้ว่า คำว่าศีล นั้นแปลว่าปกติ เพราะฉะนั้น ผิดปกติก็คือไม่ศีล ปกติก็คือความสงบ สิกขาบทเหล่านั้นมันก็เป็นเรื่องทำให้เกิดความสงบ

ถ้าเคยเรียนบาลีมา จะรู้ได้ทันที คำว่าศีลธรรมนี้เป็นรูปสมาสที่จะถอดออกมาได้ 2 ความหมาย

ศีลธรรม คือ ธรรมที่เป็นเหตุ นี่ความหมายหนึ่ง ภาวะแห่งศีล คือ ความสงบ นี้คือความหมายหนึ่ง แต่ว่ามันก็เนื่องกัน ศีลธรรม สิ่งที่ทำความสงบ ศีลธรรมคือภาวะแห่งความสงบ มันคนละความหมาย แต่มันเนื่องกัน ถ้าทำเหตุแห่งความสงบ มันก็มีภาวะแห่งความสงบ เพราะงั้นคำว่าศีลธรรม ถ้าขึ้นกันโดยเหตุ มันก็เป็นสิ่งที่ต้องกระทำเพื่อความสงบ แต่ถ้าว่ากันโดยผล มันก็คือภาวะแห่งความสงบที่ได้รับแล้ว เพราะงั้นถ้าทำถูกต้อง แท้จริง ไม่หลอกลวงกัน สิ่งที่เรียกว่าการเมืองนั้นก็เป็นศีลธรรม เป็นรูป เป็นความหมาย เป็นเนื้อ เป็นตัว ขอให้เข้าใจอย่างนี้ ถ้าเราตัด เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ความสงบ ความเป็นอยู่ที่สมแก่ความเป็นมนุษย์

เพราะงั้นก็ไปคิดกันเสียใหม่ข้อนี้ ข้อแรกนั้นว่าการเมืองนั้นคือศีลธรรม ที่นี้ถ้ามาตกอยู่ในมือของมนุษย์ที่ไร้ศีลธรรม การเมืองก็เป็นเรื่องสกปรก คือเป็นเรื่องหลอกลวง เราแยกกันให้ชัดอย่างนี้แล้วไปวางรูปงานกันเสียใหม่ เพราะว่าการเมืองในที่นี้ จำกัดความสั้นๆว่าการประพฤติ การปฏิบัติ การกระทำที่ให้บ้านเมืองนั้นอยู่อย่างมีสันติภาพ หรือความสงบสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็อยากจะระบุ การเมืองกับระบบหนึ่งที่เรียกว่า ธัมมิกสังคมนิยม คือ สังคมนิยมที่ประกอบอยู่ในธรรม เดี๋ยวก็จะพูดให้ชัดเจนกันในข้อนี้ เพราะว่าหัวข้อแรกเพียงแต่ให้รับทราบไว้ก่อนว่า การเมืองนั้นคือศีลธรรม อย่าเอาไปทำให้สกปรก…” (อ่านต่อฉบับหน้า)