ยูร   กมลเสรีรัตน์

[email protected]

จากวิศวฯ จุฬาฯ สู่ประตูเหมืองแร่

1.กรรมกรเหมืองแร่วันละ 6 บาท

“สาเหตุที่แท้จริงที่ข้าพเจ้าต้องไปถลุงชีวิตในเหมืองแร่เมื่อวัยที่ควรสนุกสนานอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เพราะข้าพเจ้าเอาใส่กับการเรียนน้อยเกินไป ข้าพเจ้าจึงได้รีทายร์ โลกได้ปกครองคนเราด้วยการลงโทษและให้รางวัลตามตามจังหวะที่เหมาะสม ถ้านิสิตเหลวไหล ท่านก็จะถูกรีทายร์อย่างข้าพเจ้า…”อาจินต์ ปัญจพรรค์สารภาพไว้ในเรื่อง “มือที่เปิดประตูเหมือง”

หลังจากถูกคัดชื่อหรือรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย อาจินต์  ปัญจพรรค์ไปสมัครทำงานของเอกชนในระยะสั้น ๆ ได้แก่...

“เป็นลูกมือในร้านหมอ คนปั่นเครื่องทำไฟของร้านตัดผมบ้านนอก เคยทำงานเป็นข้าราชการวิสามัญของกระทรวงมหาดไทย”เขาเล่า

นอกจากนี้เขาได้สมัครเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  แต่เรียนไม่จบ ขุนปัญจพรรคพิบูล ผู้เป็นบิดา ในขณะนั้นได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา จึงพาไปฝากให้ทำงานที่บริษัทเหมืองแร่ชื่อ เหมืองเหนอในจังหวัดพังงาที่ยิ้มรอต้อนรับเขา ดังที่เขาบอกเล่าไว้ในเรื่อง “มือที่เปิดประตูเหมือง”...

“...เหมืองแร่คือตู้ใส่กับข้าวใบสุดท้ายที่บังคับให้ข้าพเจ้าประคองกระเพาะอันอิดโรยไปหามัน มันบังคับให้ไปหา ไม่ใช่ของร้องให้ไป มันต้อนข้าพเจ้ามากกว่าต้อนรับ...”

การที่เขาเป็นลูกผู้ว่าราชการจังหวัด แม้ว่าจะฝากงานได้อย่างง่ายดาย ก็ใช่ว่าจะได้งานดี มีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานแต่อย่างใด เพราะวุฒิวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ใบรับรองความรู้ความสามารถที่จะเป็นใบเบิกทางไปสู่ตำแหน่งงาน เมื่อไม่ได้ปริญญาเต็มใบเช่นนี้ ทางบริษัทเหมืองแร่จึงต้องให้ทำงานในเบื้องต้นเหมือนชาวบ้านที่มาสมัครเข้าทำงาน นั่นก็คือ กรรมกรเหมืองแร่

“...เป็นการได้งานอย่างง่ายดาย  มันง่ายเพราะไม่มีการแย่งชิง เรียกเสียโก้ว่าฝึกงานช่าง แต่ที่แท้ข้าพเจ้าเป็นลูกมือช่างตีเหล็กชาวจีน มีหน้าที่ทุบถ่านหินให้ย่อยเป็นก้อนเล็กเพื่อให้มันติดไฟ แล้วโกยไปใส่เตาเผาเหล็ก แล้วก็มีหน้าที่โยกคันสูบเพื่อเป่าลมให้ไฟแรง เพื่อช่างตีเหล็กจะได้เผา เหล็กของเขาได้ต้องใจ แล้วข้าพเจ้าก็จะย้อนมามีหน้าที่ยกค้อนขึ้นตีเหล็กที่เผานั้นบนทั่งตามเหลี่ยมมุมที่ช่างตีเหล็กเขาถือปากคีบพลิกให้  นี่คืองานชิ้นแรกในเหมืองแร่สำหรับข้าพเจ้า...”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ในวัย 22 ปี ชีวิตเคยมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ไม่เคยทำงานหนักมาก่อน การเป็นกรรมกรเหมืองจึงถือว่าหนักหนาสาหัสสำหรับเขา ซ้ำเขายังมีรูปร่างเล็ก ผอมบางและมืออันบอบบาง แต่เขาก็ต้องอดทน ต่อให้เป็นคนร่างใหญ่ ก็ยังถือว่าเป็นงานที่หนักหน่วง  แค่ค้อนปอนด์ที่ต้องยกขึ้นทุบถ่านหินก็หนักอย่างน้อย 12 ปอนด์

“...ข้าพเจ้าไม่มีเวลาว่าง ลูกมือของช่างตีเหล็กว่างไม่ได้ เขาจะต้องนั่งทุบถ่านหินอยู่เรื่อยไป เทออกมาจากกระสอบ ทุบไป ทุบไป ทุบก้อนใหญ่เทากำปั้นให้เล็กเท่าหัวแม่มือ ทุบไป ทุบไป แท่นเหล็กอยู่ข้างล่าง หัวแม่มือและก้อนถ่านอยู่กลาง ค้อนอยู่บน ละอองสีดำเป็นประกายของมันตกกลาดเกลื่อนและปลิวว่อน ผงของมันเข้าไปซุกอยู่ตามขุมขนส่วนที่พ้นออกมาจากเสื้อผ้า ไม่กี่วันขนก็ตาย แล้วขุมขนก็ดำพราวไปเหมือนรอยสัก...

...ช่างตีเหล็กสอนงานภาคปฏิบัติให้ข้าพเจ้า ในขณะที่ข้าพเจ้าสอนการอ่านบลูพริ้นท์ให้เขา ข้าพเจ้ามีความรู้ในวิชาเขียนแบบจากมหาวิทยาลัย แต่ต้องไปเป็นลูกมือของคนตีเหล็ก

ข้าพเจ้าได้เบี้ยเลี้ยง 6 บาทต่อการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มันเป็นอัตราที่ให้ผลในการฝึกจิตใจมากกว่าฝึกงาน แต่ข้าพเจ้าก็ทนได้ ยิ่งกว่านี้ข้าพเจ้ายังยอมทนถึงขนาดพิมพ์หัวแม่มือเพื่อรับเงินนี้ เขาบังคับให้ทำเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่เด็กชนบท ซึ่งอยู่โรงงานเดียวกันมีสิทธิสะเออะเซ็นชื่อรับเงินนของตนด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งมันไปขอร้องให้คนที่รู้เขียนเป็นแบบมาให้เพียรลอกตามจนเหมือน...”

ประตูเหมืองอ้าแขนต้อนรับอดีตนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2 ในฐานะกรรมกรเหมือง ด้วยการเป็นลูกมือช่างตีเหล็กชาวจีน รายได้เหมือนกับลูกมือทุกคนที่ทำงานในปีแรกคือได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 6 บาท ทั้งที่เขาเคยมีรายได้จากการแจกไพ่ในบ่อนการพนันวันละ 50 บาท เป็นงานเบาสบาย ไม่ได้ออกแรงอะไรเลย แต่กลับมีรายได้มหาศาล

“...ข้าพเจ้ายังได้รับความรู้ต่อไปยิ่งกว่า 6 บาทต่อ 1 วันอีกด้วยว่า  ไม่มีเสาร์อาทิตย์ วันใดขาดงาน วันนั้นจะไม่ได้รับค่าจ้าง อะไรกัน?  อะไรกัน? ข้าพเจ้าท่องคำถามนี้มาตลอดทางที่เดินดุ่มกลับที่พักด้วยใบหน้าอันเกรียมด้วยเหงื่อ ซึ่งบัดนี้คงจะเกรียมลงไปอีกด้วยความสนเท่ห์และกังวล...”

โอ้หนอ! กรรมกรเหมืองหน้าใหม่ได้เบี้ยเลี้ยงแค่วันละ 6 บาทเท่านั้น ในขณะที่ลูกจ้างคนอื่นมีรายได้แตกต่างกันออกไปตามบทบาทและหน้าที่ กรรมกรหรือกุลีที่รู้งานแล้วมีรายได้วันละ 10.50 บาท ช่างที่มีฝีมือวันละ 20 บาทถึง 30 บาท เสมียนในออฟฟิศเดือนละ 620  บาทเป็นอย่างต่ำ สูงสุดได้ถึง 1,500 บาท  ชี้ฟ  โฟร์แมนคนไทยจบจากจุฬาฯใหม่หมาด อยู่ในช่วงเทรนงานได้  1,500 บาท ชี้ฟ โฟร์แมนฝรั่ง  5 คน เดร็ดมาสเตอร์ 2 คน ชี้ฟเอนจิเนียร์ 1 คน ผู้จัดการ 1 คน ได้อย่างน้อยที่สุดเดือนละ 7,000 บาท ขณะที่เขียน นี่คือรายได้เมื่อประมาณ 70 ปีก่อน

“...วันที่สองในนรก ข้าพเจ้าเขียนลงไปในสมุดบันทึกว่า วันนี้เริ่มงานที่ต่ำลงไปกว่าเมื่อวาน ข้าฯกำลัง falling  down ทุก ๆ ครั้งที่เข็มวินาทีกระดิก มืออันแบบบางของข้าฯต้องกระชับด้านค้อนตีเหล็กขนาดสิบปอนด์สูงท่วมหัวเหวี่ยงลงไป เหวี่ยงลงไป ถูกบ้างผิดบ้าง เพราะความเก้ ๆ กัง ๆ และอ่อนแอ เหวี่ยงลงไปบนแผ่นเหล็ก ซึ่งแดงอร่ามออกมาจากเตาถ่านหิน ขณะที่ข้าฯเหวี่ยงค้อนลงไปนั้น ข้าฯมิได้ทุ่มแต่เพียงกำลังแขน หากแต่ทุ่มเอาราคาของตัวเองลงไปด้วย และลงไปด้วยฝ่ามือของข้าฯเอง

มือของข้าฯชาและเริ่มพองเป็นดวง ๆ ทั่วฝ่ามือ  เหงื่อเริ่มหลั่ง ลมหายใจเริ่มหอบ ผมเริ่มยุ่ง ต้นแขนเริ่มร้าว เหวี่ยงลงไป เหวี่ยงลงไป ครั้งแล้วครั้งเล่า จากผิดบ้างถูกบ้างเป็นถูกที่หมายทุกครั้ง จากเริ่มเหนื่อยเป็นเหนื่อย แล้วเลยเป็นไม่รู้สึก ทุกอย่างมึนชาไปหมดสิ้น ยังคงอยู่แต่จังหวะที่ยกค้อนประเคนลงไปที่รักษาระดับไว้แน่วแน่

 ข้าฯกลายเป็นเครื่องจักรชิ้นหนึ่ง พอทิ้งค้อนนั้นลงจากมือ นิ้วของข้าฯทั้งสิบก็เหยียดไม่ออก มันตายอยู่อย่างนั้นหลายอึดใจทีเดียว  กุลีทุกคนมองข้าฯอย่างขบขันและสมน้ำหน้า  บางคนอาจจะสงสาร แต่คงไม่มีใครสงสารข้าฯยิ่งไปกว่าตัวของข้าฯเอง”

ในเวลานั้นลูกผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาคนนี้รู้สึกต่ำต้อยมาก งานที่หนักหน่วงและรายได้น้อย ก็พยายามอดทนกัดฟันสู้ด้วยความกล้ำกลืน  แต่ที่อดสู้ใจที่สุดก็คือ ทั้งที่เขาสามารถเซ็นชื่อเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่กลับต้องลดศักดิ์ด้วยการพิมพ์นิ้วหัวแม่มือเช่นเดียวกับกรรมกรคนอื่น ๆ ทำให้เขารู้สึกว่าถูกกดขี่เหมือนทาสและเหมือนผู้ต้องหาที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่เขาจะไปอุทธรณ์กับใครได้ ในเมื่อเขาทำตัวเอง จึงต้องพบกับบทลงโทษเช่นนี้ เขาได้แต่พร่ำบอกตัวเองว่า จะต้องอดทนต่อไป

ทว่า วันหนึ่ง เขาก็หมดความอดทน หากไม่ใช่เหมือนครั้งที่พ่ายแพ้ออกจากมหาวิทยาลัย เพราะความไม่เอาถ่าน ครั้งนี้เขาไม่ได้ยอมพ่ายแพ้ เพราะงานหนัก เขาพร้อมที่จะสู้กับงานหนัก  แต่เขาไม่อาจอดทนกับการถูกย่ำยีต่อไปได้อีกแล้ว...

“...ไอ้การทุบถ่านหิน มันก็สอนให้เราอดทนดี การตีเหล็ก มันก็ออกกำลังดี  ไอ้การนั่งเลื่อยท่อนเหล็ก มันก็ได้พักผ่อนดี แต่ไอ้การพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อรับเบี้ยเลี้ยงนั้น มันไม่ค่อยเข้าท่าอยู่แล้ว ยิ่งต้องมานั่งทำถังขยะให้คนอื่นอีกด้วย  มันก็ออกจะเกินไปละ มันคล้าย ๆ การนั่งทุบตีตัวเองด้วยมือของตัวเอง มันเป็นการติดเครื่องหมายลบให้กับตัวเองอย่างบ้าคลั่งเกินไป...”

“ตราบใดที่คนเรายังมีคอไว้เหลียวหลัง ตราบนั้นคนเราก็ยังต้องคิดถึงชีวิตและงานที่ผ่านมา คิดย้อนไปถึงความถูก ความผิด ความสำเร็จ ความล้มเหลว ความฝันเฟื่อง ความใจหาย ความภูมิใจ ความลังเล ย่อมคละกันไปมาในชีวิตของคน”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)