ในช่วงรณรงค์หาเสียงการเลือกตั้งที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง  2 ขั้วอุดมการณ์ คือ เสรีนิยม กับอนุรักษ์นิยม

รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร ให้นิยามของทั้ง 2 คำเอาไว้ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้าเอาไว้ว่า

เสรีนิยม (Liberalism) หมายถึง อุดมการณ์หรือความคิดทางการเมืองที่มุ่งให้สิทธิเสรีภาพแก่ปัจเจกบุคคลอย่างเต็มที่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย หลักการพื้นฐานของเสรีนิยม ได้แก่ สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในชีวิต และทรัพย์สิน (right of life, property) ความเสมอภาคสำหรับทุกคนภายใต้กฎหมาย การปกครองโดยการเห็นชอบจากประชาชนโดยกระบวนการเลือกตั้ง ความโปร่งใสในการปกครองบ้านเมือง

อนุรักษ์นิยม (Conservativism) หมายถึง อุดมการณ์หรือความคิดทางการเมืองที่สนับสนุนคุณค่า (Value) ดั่งเดิม โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาระเบียบสังคมที่มีอยู่เดิมหรือการนำระเบียบสังคมในอดีตกลับมาใช้อีก

ทว่าหากพิเคราะห์ไปที่ชุดนโยบายของพรรคการเมือง ในหลายพรรคอาจไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ หรือจะต่างก็เพียงไปต่อยอดเพิ่มเติม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา  จนทำให้คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือทีดีอาร์ไอได้ออกบทความ ตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมืองในการจัดทำนโยบาย โดยข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศออกมาเป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์ที่มุ่งแก้ไขปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางก็ตาม แต่ก็มีนโยบายจำนวนมากที่น่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และกลับจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะการสร้างภาระทางการคลังจากการใช้งบประมาณเกินตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ในขณะที่มีเพียงบางพรรคที่นำเสนอด้านความมั่นคงด้วยนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันหลัก

กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคที่เป็นสารตั้งต้นในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล  จะมีอุดมการณ์เดียวกันไปทั้งหมด

โดยเฉพาะพรรคอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย ที่ยังคงแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง และด้วยความหลากหลายนี้ ทำให้ภาพการเมืองไทยในห้วงเวลานี้ ยังไม่มีความแน่นอน