ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

จากวิศวฯ จุฬาฯ สู่ประตูเหมืองแร่

2.ข่าวดีจากเมืองหลวง

ถังขยะที่เขาต้องทำก็คือ เขาต้องตัดถังเปล่าขนาดใหญ่ด้วยเหล็กสกัดให้ขาดกลางเป็นสองท่อน เพื่อนจะได้ม้วนขอบถัง ซ่อนรอยคม แล้วใส่หูเหล็กทั้งสองข้าง ทำเป็นถังขยะบ้านฝรั่ง การถูกย่ำยีศักดิ์ศรี โดยการให้พิมพ์ลายนิ้วมือ เขาก็รู้สึกขมขื่นเต็มทนอยู่แล้ว

 เมื่อถูกย่ำยีศักดิ์ศรีถึงสองชั้นเช่นนี้ อาจินต์  ปัญจพรรค์เห็นว่า เฉพาะงานในเหมืองแร่ที่ทำอยู่  มันเป็นงานลูกมือเจ๊กตีเหล็กนี่เอง งานแบบนี้หาทำได้ง่ายมากแถวเซียงกง(ธุรกิจอะไหล่ยนต์ มีร้านหลายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด) 

เขาเล่าต่อในเรื่อง “เบ้าหลอมแห่งใหม่”ว่า หลังจากเขาตีเหล็กด้วยค้อน 12 ปอนด์จนเส้นเลือดฝอยในคอแตก บ้วนน้ำลายมีเลือดปนออกมา ซ้ำต้องทนกล้ำกลืนรับเบี้ยเลี้ยงโดยวิธีพิมพ์หัวแม่มือบนแผ่นกระดาษ ในขณะที่เด็กชาวบ้านในโรงงานสามารถเซ็นชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งที่อ่านภาษาอังกฤษไม่ออกซักตัว โดยลอกตามแบบที่คนอื่นเขียนให้

“ข้าพเจ้าจึงเซย์กู๊ดบายต่เหมืองใหญ่โต แต่ใจยิวแห่งนั้น วอล์กเอ้าท์” อาจินต์ ปัญจพรรค์ตัดสินใจหันหลังให้เหมืองแร่แห่งนั้น บ่ายหน้าสู่เหมืองแร่แห่งใหม่ที่มีมากมายในภาคใต้ เขาบรรยายความรู้สึกตอนนี้ว่า...

“...เด็กหนุ่มผู้รีทายส์จากมหาวิทยาลัย ยากจน ไร้งาน ท้อแท้ อกหักและแหย กำลังเดินอยู่บนถนนอันแสนเปลี่ยว เดินคนเดียว  คิดไปในสิ่งที่ไม่มีใครแยแสแม้แต่เทวดา คิดไป เดินไป เลี้ยวเข้าออฟฟิศของบริษัทเหมืองแร่ที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา อันมีชื่อว่า บริษัทกระโสมติน  เดร็ดยิ่ง ฟังไพเราะนัก ไอ้ชื่อภาษาอังกฤษ แต่เมื่อแปลความเป็นไทยแล้ว มันก็คือเรือขุดแร่อันคร่ำคร่าร้องครวญคราวด้วยความเหน็ดหน่ายอยู่ในป่าในดง”

ที่เหมืองแร่แห่งใหม่ ด่านแรกที่เขาเจอก็คือเสมียนชาวมาเลย์ ทำท่ากร่างกับเขา เมื่อเขาบอกจุดประสงค์ ด่านที่สองเป็นล่ามคนไทย อวดเบ่งและกีดกันเขา แต่เมื่อเขาวางท่าบ้าง ในที่สุด เขาก็ได้เข้าพบผู้จัดการ

อาจินต์ ปัญจพรรค์พูดภาษาอังกฤษได้งู ๆ ปลา ๆ นึกเรื่องนี้แล้ว เขาโมโหตัวเอง ตอนเรียนหนังสือไม่ได้สนใจ พอเข้ามหาวิทยาลัยช่วงสงคราม อาจารย์ชาวต่างประเทศก็ถูกทหารญี่ปุ่นจับ เหลือแต่อาจารย์ไทยที่จบเมืองนอก แต่สำเนียงภาษาอังกฤษ ฟังไม่รู้เรื่อง  ถือว่าเป็นความโชคดีของเขาที่นายฝรั่ง ซึ่งเป็นผู้จัดการเหมืองแร่พูดภาษาไทยได้  เพราะมาอยู่เมืองไทยนับสิบปี

อาจินต์ ปัญจพรรค์สืบรู้มาว่าผู้จัดการเหมืองแร่เป็นคนซิดนีย์ เป็นตระกูลทำเหมืองในเมืองไทยมาตั้งแต่รุ่นปู่ มีชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็นฝรั่งใจอารี มีเมตตา ทั้งเรื่องทำบุญ ทะนุบำรุงวัด ช่วยเหลือโรงเรียนที่ยากจน

แม้กระทั่งรถเก๋งของผู้จัดการเหมือง ซึ่งถือว่าเป็นรถศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนเหมือง  เป็นรถต้องห้ามที่ใคร ๆ จะนั่งไม่ได้ นอกจากผู้จัดการกับแหม่มที่เป็นภรรยา กลับกลายเป็นว่ารถเก๋งราวกับรถมูลนิธิ เห็นคนแก่คนเฒ่าที่ไหนเดินอยู่ข้างทาง รับขึ้นรถหมด แม้แต่คนในหมู่บ้านมีธุระจำเป็นหรือมีคนป่วยหนัก ต้องไปหาหมอในตัวจังหวัด ใครมาขอยืมรถไปใ[A1] [A2] [A3] ช้ ให้หมด  ซึ่งหาไม่ได้ในชาวต่างชาติ รวมทั้งรับชาวบ้านเข้าทำงานเหมืองตั้งแต่เด็กที่พอมีกำลังยกของหนักได้ หรือรับกระทั่งคนแก่และคนใบ้ที่พอทำงานได้ จนกิตติศัพท์เลื่องลือในหมู่คนไทยไปทั่วภาคใต้  ดังที่บรรยายไว้ในเรื่อง “เบ้าหลอมแห่งใหม่”ในเรื่องความโอบอ้อมอารีของนายฝรั่ง...

“...นายฝรั่งของข้าพเจ้าเป็นคนใจบุญ แกบริจาคเงินให้วัดอยู่เสมอ แม้เมื่อเวลาทางวัดมีงาน แกก็สั่งขนฟืนสำหรับเรือขุดไปให้หุงต้มอาหารทีละสองคันรถจิ๊ปใหญ่ เวลากินเหล้าด้วยกัน แกจะแจกไล้ท์เตอร์คนละอันและบุหรี่คนละซองรายตัว ไม่ต้องมานั่งขอกัน ไล้ท์เตอร์นั้นแกซื้อตุนไว้ทีละโหล บุหรี่นั้นซื้อจนร้านในเหมืองไม่มีจะขายให้

 แกแจกเงินแก่เด็ก ๆ ลูกชาวบ้าน จนเงินในกระเป๋าหมด เพราะชาวบ้านคนอื่นต่างก็ไปขนลูกของตัวมาบ้าง ร้อนถึงต้องไปเปิดตู้เซฟเอาเงินมาจากออฟฟิศ เวลานั่งรถผ่านป้าช้า แกจะถอดหมวดทุกครั้ง ครั้งหนึ่งตอนกลางคืน ป่าช้าซึ่งสุมไฟเผาศพกันอย่างสะเพร่าติดไฟแดงอยู่ แกลงไปตรวจและช่วยโยนแขนศพข้างหนึ่งที่กระเด็นออกมาให้เข้ากองไฟ แล้วนำเรื่องนี้มาต่อว่าพวกเราว่า ไม่ดูแลศพกันเลย แต่เรื่องนี้เองทำให้แหม่มของแกแยกห้องนอนและโต๊ะกินข้าวกับแกร่วมเดือน”

เมื่อนายฝรั่งซักถามเขา รู้ว่ามีประสบการณ์ทำงานเหมืองแร่และเขาบอกจุดประสงค์ว่าอยากทำงานในร่ม  นายฝรั่งค้านทันทีว่า ทำงานในร่มไม่มีทางก้าวหน้า อย่างมากเป็นหัวหน้าเสมียน ถ้าทำงานกลางแจ้งจะก้าวหน้า  เพราะมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่าคนทำงานในร่ม สามารถรับเหมาทำถนนหรือขุดคลองต่อไปได้ แต่ในขั้นต้นยังไม่ต้องทำอะไร ให้ติดตามนายฝรั่งเพื่อดูงานและมีสมุดพกคอยจด ทำหน้าที่เสมือนท.ส.ของผู้จัดการ ดังที่เขาเล่าไว้ถึงชีวิตที่พลิกผัน ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือว่า...

“จากกรรมกรวันละ 6 บาท มาเป็นเดินตามหลังผู้จัดการ เฟิสท์สตาร์ทเดือนละ 500 บาท แล้วก็ขึ้นพรวด ๆ ต่อมาเป็นเรือนพัน”

ระหว่างที่กรากกรำทำงานในเหมืองแร่ วันหนึ่ง ก็ได้รับจดหมายจากพี่สาว-ชอุ่ม ปัญจพรรค์ นั่นก็คือ เรื่องสั้น “ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์”ที่อาจินต์ ปัญพรรค์เขียนทิ้งไว้อยู่ในลิ้นชักที่กรุงเทพฯ เพราะไม่กล้าส่งไปที่ไหน ก่อนที่บ่ายหน้าไปทำงานเหมืองแร่ ได้ตีพิมพ์ในหนังสือ “พิมพ์ไทยวันจันทร์”ที่มีประหยัด ศ.นาคะนาทเป็นบรรณาธิการ ดังจดหมายของพี่สาวที่เขียนบอกเล่า...

“พี่—คิดถึงเธอ จึงไปจัดลิ้นชักตู้ให้เธอและได้พบเรื่อง “เศรษฐศาสตร์กลางทะลึก”ที่เธอเขียนทิ้งเอาไว้ พี่เอาไปให้ “อิงอร”และ “รพีพร”ทั้งสองคนชอบใจมาก จึงเอาไปให้บรรณาธิการพิมพ์ไทยวันจันทร์ แล้วเขาก็นำลงให้ ได้ค่าเรื่องตั้ง 80 บาท เธออย่าวางปากกานะจ๊ะ-ชอุ่ม ปัญจพรรค์”

บางคนคงจะแปลกใจว่าเรื่องสั้นที่กล่าวถึง ทำไมชื่อ “ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์” เพราะเดิมอาจินต์ ปัญจพรรค์ตั้งชื่อนี้ แต่ “อิงอร”หรือศักดิ์ เกษมหุตาคม ผู้เขียนเรื่อง ธนูทอง เปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น“เศรษฐศาสตร์กลางทะลึก” ก่อนที่จะส่งไปให้ประหยัด ศ.นาคะนาท ตีพิมพ์ใน “พิมพ์ไทยวันจันทร์”เมื่อปี 2494 อาจินต์ ปัญจพรรค์บรรยายความรู้สึกถึงข่าวดีที่ได้รับ ซึ่งเปรียบกับน้ำทิพย์ที่ชุบชโลมชีวิตอันหนักเหนื่อยในเหมืองแร่ว่า....

“...เป็นข่าวดีที่ทำให้ข้าพเจ้าตะลึงงันเหมือนถูกน็อค มันคือผลสำเร็จอันคาดไม่ถึง คล้าย ๆ สตางค์แดงที่เราทำหลุดมือตกลงไปในบ่อ น้ำกลับกระเด็นขึ้นมาเป็นสตางค์ห้าสตางค์สิบพรั่งพรูเข้ามาสู่มือของเราเองราวกับสายชล เหมือนยาจกตื่นเช้าเดินออกมาจากกระท่อม ก็พบเงินหม้อทองหม้อผุดขึ้นมาตรงหน้า นั่น...ข้าพเจ้ากล้าเปรียบถึงอย่างนั้น....ข้าพเจ้าอ่านเรื่องในนิตยสารนั้นและอ่านจดหมายนี้หลายตลบจนสว่างคาตา ทั้งปลาบปลื้มดื่มด่ำและอยากหัวเราะตัวเอง...”    

 

 

“รอบตัวเรามีเรื่องน่าเขียนทั้งนั้น เรื่องที่ดีคือ ไม่ได้ลอกใคร ไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน ก็จำได้ อ่านแล้วเป็นทางออก เป็นมุมใหม่ของชีวิต ให้รู้ว่าชีวิตมีหวัง นี่ตอลสตอยพูดไว้”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)