รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยเริ่มก่อตัวขึ้นจาก “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” แล้วค่อย ๆ สะสมพลัง ความแรง และความเร็วก่อขึ้นเป็น “พายุแห่งการเปลี่ยน” และจากพายุลูกนั้นในวันนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นอีกหลายนอตแปรเปลี่ยนเป็น “พายุการเมือง” และในที่สุดก็พัฒนาขึ้นกลายเป็น “สงครามการเมือง” ณ วันนี้

ก่อนเลือกตั้งการเมืองไทยสู้กันระหว่างขั้วอำนาจเก่าซึ่งมีที่มาแห่งอำนาจจากการลงมือทำรัฐประหาร กับขั้วอำนาจใหม่ที่หวังการเปลี่ยนถ่ายโอนอำนาจอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงของประชาชนเป็นตัวตัดสินชี้ขาด การเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเป็นหนึ่งใน “พิธีกรรมทางการเมือง” ปรากฏผลชี้ชัดว่าขั้วอำนาจเก่าพ่ายแพ้ยับเยิน สะท้อนจากจำนวนที่นั่ง ส.ส. และคะแนนเสียงที่ประชาชนเทให้กับขั้วอำนาจเสรีนิยมประชาธิปไตย โดยเฉพาะพรรคที่ได้อันดับ 1 และอันดับ 2 กวาดที่นั่งรวมกันถึง 292 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตและรายชื่อ 500 ที่นั่ง และคะแนนเสียงที่ได้มากกว่า 25 ล้านเสียง จากจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 39.29 ล้านเสียง

เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏแน่ชัด หลายฝ่ายประเมินว่าขั้วอำนาจเก่าจะยุติบทบาทตนเองลงอย่างสิ้นเชิง เพื่อปล่อยให้ขั้วอำนาจใหม่เริ่มต้นจัดตั้งกระบวนทัพขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามวิถีแห่งประชาธิปไตย แต่การเมืองไทยก็คือ การเมืองที่ค้านสายตาคนไทย ชาวโลก สื่อไทย และสื่อนอกอยู่เสมอ เพราะแม้ว่าขั้วเสรีนิยมประชาธิปไตยจะได้เสียงฉันทามติจากการเลือกตั้งแล้วก็ยังต้องผ่าน อีกหลายขั้นตอนของ “พิธีกรรมทางการเมือง” กว่าจะเข้าสู่อำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ   

ทั้งที่ยังไม่นับเล่ห์อุบายการเมืองอีกสารพัดรูปแบบที่พรรคการเมืองขั้วเดียวกันไปคิดค้นสรรหางัดมาใช้ การสร้างกฎกติกาเพื่อสืบทอดอำนาจของขั้วอำนาจเก่าที่เปรียบเสมือนเป็นทั้ง “กับดัก” และ “กับดับ” ทำให้การถ่ายโอนอำนาจเก่าสู่อำนาจใหม่เป็นหนทางที่ดงไปด้วยขวากหนาม ขุรขระ ง่ายต่อการติดหล่ม และสะดุดขาตนเองจนก้าวไม่ถึงฝั่งฝัน ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มากถึง 50:50 อาทิ

กรณีการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้สมัคร ส.ส. ครอบครองหุ้นสื่อหรือเป็นเจ้าของบริษัทสื่อ เพราะมองว่าอาจนำสื่อไปใช้เอื้อประโยชน์การหาเสียงเลือกตั้ง แม้ว่าหลายกรณีพบว่าผู้สมัคร ส.ส. ไม่ได้ครอบครองหุ้นสื่อแต่สื่อก็เลือกข้างเชียร์ เพราะมีนอมินีหรือการอำพรางชื่อเพื่อหลบหลีกการทำผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการผิดเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หากผลการตีความและตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการถือหุ้น ITV จำนวน 42,000 หุ้น ของว่าที่นายกฯคนที่ 30  “นายพิธา” ค้านกับสายตาประชาชนแล้วอาจนำไปสู่ “สงครามการเมือง” บนโลกออนไลน์และขยายลงสู่ท้องถนน จาก “ผู้เล่น” ที่ไม่ได้มีแค่นักการเมืองเท่านั้น นับคร่าว ๆ ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 14.43 ล้านคน

กรณีการกำหนดตัวเลขของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอาไว้ 376 เสียง ของจำนวนเสียงทั้งหมด 750 เสียง จากเสียง ส.ส. 500 เสียง กับเสียง ส.ว. 250 เสียงรวมกัน ลำพังเสียงโหวตจากสภาล่าง (ส.ส.) อย่างเดียวย่อมเป็นไปได้ยาก ทำให้การได้มาซึ่งนายกฯคนใหม่จำเป็นต้องอาศัย “การชูมือ” ของสภาสูง (ส.ว.) ร่วมโหวตด้วย แต่โอกาสที่ ส.ว. ทั้งหลายจะโหวตให้กับว่าที่นายกฯ คนใหม่ก็ไม่ง่ายเลย เพราะนอกจาก ส.ว. จะถูกแต่งตั้งโดยขั้วอำนาจเก่าแล้ว ส.ว. ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นพวกอดีตข้าราชการชั้นสูงค่อนข้าง
อนุรักษนิยม การยอมรับและการขานรับการเปลี่ยนแปลงก็คงยากสักหน่อย

นอกจากกฎกติกาทางการเมืองที่เขียนขึ้นจากผู้มีอำนาจเก่าที่ส่งผลกระทบต่อเกมการเลือกตั้งและเกมการเข้าสู่ตำแหน่งนายกดังกล่าวแล้ว ขั้วอำนาจเสรีนิยมประชาธิปไตยก็ยังเล่นเกม “ซัดกันนัว!” อย่างดุเดือด แม้ว่าหน้าฉากได้ร่วมลงนาม MOU กันแล้ว แต่เพราะนี่คือประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ฝ่ายชนะเลือกตั้งอันดับ 1 และอันดับ 2 ต่างอยู่ขั้วเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ก็ต้องมาแข่งแย่งฐานเสียงเดียวกัน และฐานเสียงเดิมก็มีการเทใจเปลี่ยนอยากลองของใหม่ทำให้ “ฝ่ายน้อง” ที่เป็นรองมาตลอดเบียดแซง “ฝ่ายพี่” ช่วงโค้งสุดท้ายกลายเป็นผู้ชนะพลิกเกมการจัดตั้งรัฐบาลแบบฝ่ายพี่ไม่ทันตั้งตัว

การซัดกันเองของฝ่ายชนะมีจุดเริ่มจากระดับบนลงมายันกองเชียร์ มีทั้งการปล่อยข่าวลือ แซะกัน ขิงกัน และเผชิญหน้ากัน
ทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดหนักขึ้น มีการโต้ตอบกันข้ามไปข้ามมาอย่างร้อนแรง ต่างฝ่ายต่างมีลูกเล่นแพรวพราว ชิงไหวชิงพริบกันร้อนแรง ใช้ลูกหยอดตีโยกไปมา โดยเฉพาะประเด็นตำแหน่ง ‘ประธานสภา’ จนในที่สุดหลายฝ่ายก็ออกโรงเตือนว่าการชนกันเองเช่นนี้อาจจะทำให้ขั้วอำนาจเก่าย้อนรอยกลับมาใหม่อีกครั้ง

เกมชิงอำนาจสงครามการเมืองไทยเต็มไปด้วยความร้อนแรงองศาแตก ก็เพราะอำนาจและผลประโยชน์นั้นมีกำลังและ พลานุภาพอาจพลิกคนธรรมดาให้กลายเป็นคนเหนือคน หรือคนเหนือคนให้กลายเป็นคนธรรมดา เมื่อต่างฝ่ายต่างยึดโยงในผลประโยชน์แห่งตนจนมองข้าม “สัจจะ” และ “มารยาททางการเมือง”

เกมสงครามการเมืองไทยเต็มไปด้วยข่าวลือ ความไม่แน่นอน บิดพลิ้ว อ่อนไหว วิวาทะ และเล่ห์เหลี่ยม คงไม่จบลงอย่างสวยหรูและง่ายดาย ผู้อ่านจึงต้องจับตาดูด้วยใจลุ้นระทึกตลอดเวลาล่ะครับ!!