ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

จากวิศวฯจุฬาฯ สู่ประตูเหมืองแร่

3.ความฝันในอากาศ

อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้บรรยายความรู้สึกถึงเรื่องสั้นเรื่องแรก“เศรษฐศาสตร์กลางทะลึก” ไว้ในเรื่อง “เหมืองน้ำหมึก”ด้วยความภาคภูมิใจว่า

“นับเป็นเรื่องสั้นที่ชี้ชะตาให้ข้าพเจ้าผุดเกิดในโลกแห่งการเขียนหนังสือ แม้ว่าก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องอื่น ๆ ไว้บ้างแล้ว แต่ไม่มีน้ำหนักเท่าเรื่องนี้”

หลังจากเรื่อง“เศรษฐศาสตร์กลางทะลึก”ใช้นามปากกา “จินตเทพ” ตีพิมพ์ใน “พิมพ์ไทย

วันจันทร์” ซึ่งเขียนโดยเด็กหนุ่มวัยเพียง 22  ปี ยอดเยี่ยมและลุ่มลึกอย่างไร ย่อมประจักษ์แก่สายตานักอ่าน เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับการตอบแทนจากคนอ่านดีมาก

อาจินต์ ปัญจพรรค์จึงเขียนเรื่องสั้น “ผู้กล้าหาญ”ส่งไปลงใน “พิมพ์ไทยรายเดือน”ที่มีประมูล อุณหธูป เป็นบรรณาธิการ เป็นเรื่องสั้นเรื่องที่ 3 ในชีวิตและเป็นเรื่องชุดเหมืองแร่เรื่องที่ 2 สำหรับเรื่องชุดเหมืองแร่เรื่องแรกคือเรื่อง “สีชมพูยังไม่จาง”ลงในหนังสือของมหาวิทยาลัยของชุมนุมศิษย์เก่าจุฬาฯ เมื่อวันที่  23 ตุลาคม  2493

เบื้องหลังการเขียนเรื่อง “สีชมพูยังไม่จาง” ความจริงแล้วอาจินต์ ปัญจพรรค์ตั้งใจเขียนเก็บไว้อ่านเอง เพื่อเป็นคัมภีร์สั่งสอนชีวิตที่เหลวไหลของตัวเอง พอดีปีนั้น ธวัชชัย ไชยชนะเป็นสาราณียกรทำหนังสือของศิษย์เก่าจุฬาฯ ขอให้เขียนเรื่องส่งไปลง เพราะอยากให้คนได้อ่านเรื่องของคนทุบถ่านหินแทนการห่มเสื้อครุย จะต้องได้ข้อคิดดี ๆ

ปรากฏว่าเมื่อคนได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ด้วยความตื่นตาตื่นใจ ถึงขั้นตกอกตกใจ ไม่นึกว่าชีวิตของอดีตศิษย์เก่าจุฬาฯ จะประสบกับความลำบากตรากตรำถึงเพียงนี้ บางคนอ่านแล้วถึงกับน้ำตาไหล บางคนมีความมุมานะในการเรียนมากขึ้น กลัวว่าจะไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญา

เรื่องสั้น “ผู้กล้าหาญ”ไม่ได้นำมาพิมพ์รวมเล่มไว้เป็นหลักฐาน เพราะหาต้นฉบับไม่เจอ จึงไม่มีใครได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้

หากย้อนรอยชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ในเรื่องการเขียน แววการเขียนของอาจินต์ ปัญจพรรค์เริ่มส่งประกายมาตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่ม.3 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเพทฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ครูประจำชั้นให้นักเรียนเขียนเรียงความเรื่อง “บ้านของข้าพเจ้า” อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้รางวัลที่ 1เป็นสมุดนักเรียน 1 โหล

เมื่อเข้าเรียนเตรียมจุฬาฯ ปี 1-2 (เท่ากับ ม.5-ม.6 ในปัจจุบัน) มีข้อสอบให้แปลโคลงสี่สุภาพเป็นร้อยแก้ว อาจินต์ ปัญจพรรค์แปลเป็นกลอนแปดหมด  อาจารย์กิ่งแก้ว ครูสอนภาษาไทยพูดกับเขาว่า เธอทำได้ดีมาก แต่ผิดเงื่อนไข จึงให้สอบได้เฉย ๆ ไม่มีรางวัลอะไร ตอนปิดเทอมครั้งหนึ่ง อาจารย์กิ่งแก้วให้การบ้านเขียนเรียงความเรื่อง “ปิดเทอมของฉัน” อาจินต์เขียนเรียงความทั้งเรื่องเป็นนิราศกลอนแปด สมุดเรียงความที่อาจารย์กิ่งแก้วส่งคืน มีข้อความอยู่มุมของสมุดว่า “ดีที่สุด”

กระทั่งปี 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ องค์การสหประชาชาติหรือ UN  จัดประกวดคำขวัญติภาพทั่วโลก สำหรับประเทศไทย อาจินต์  ปัญจพรรค์ ชนะเลิศด้วยคำขวัญ “สงครามคือบาป สันติภาพคือบุญ” ไปรับรางวัลที่สำนักงานทนายความของขุนประเสริฐศุภมาตรา อยู่ในซอยพญาไม้ เชิงสะพานพุทธ ฝั่งธนฯ ขุนประเสริฐศุภมาตราเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นหนึ่งในกรรมการผู้จัดประกวดคำขวัญ

ช่วงที่เป็นนิสิตจุฬาฯ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียนเรื่องสั้นเพียงประปรายลงในหนังสือ “ฉุยฉาย”และ “ประชากร”รายสัปดาห์ เขียนบทความลงหน้ากลางของหนังสือพิมพ์สุวรรณภูมิ แล้วไม่ได้เขียนอะไรอีก ซ้ำไม่สนใจการเรียน หนีเรียนไปเที่ยวเตร่เป็นประจำ จนกระทั่งถูกรีไทร์

 หากก่อนที่บิดาจะดัดสันดานให้ไปทำงานเหมืองแร่เมื่อปี 2492  เขาได้เขียนเรื่องสั้นแรกที่เขาจินตนาการถงท้องทะเลที่จะนั่งเรือไปภูเก็ต ทั้งที่ไม่เคยเห็นทะเลมาก่อน ทิ้งไว้ในลิ้นชักโต๊ะที่บ้าน เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็คือ “ในทะเลมีเศรษฐศาตร์” ใช้นามปากกา “จินตเทพ” ทั้งหมดนี้ได้กล่าวถึงแล้วในตอนต้น ๆ

เมื่ออาจินต์ ปัญพรรค์เดินทางไปทำงานเหมืองแร่ที่จังหวัดพังงา เขาได้เขียนเล่าถึงการเดินทางเป็นจดหมายส่งไปยังบรรณาธิการโฆษณาสาร รายเดือนของกรมโฆษณาการ(ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) ซึ่งมีชอุ่ม ปัญจพรรค์เป็นบรรณาธิการ ชื่อเรื่องว่า “จดหมายจากเมืองใต้”ใช้นามปากกา “จินตเทพ”

บรรยายถึงการเดินทางจากบางกอกน้อยถึงห้วยยอด  ต่อด้วยรถประจำทางจากห้วยยอดผ่านอ่าวลึก คลองท่อม เข้าจังหวัดกระบี่และจากกระบี่ด้วยเรือเครื่องยนต์บรรทุกสินค้า ข้ามทะเลไปขึ้นเกาะภูเก็ต งานเขียนทั้ง 3 ชิ้น ได้ลงเดือน 1 ชิ้น หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้เขียนอีกเลย

“นั่นเป็นสมัยแรกเริ่ม”เขาบอกเล่าไว้ในเรื่อง “สนิมแร่ “การเขียนหนังสือของข้าพเจ้าต่อจากจดหมายทั้งสามฉบับนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีกำลังใจจะเขียนหนังสืออีกเลย เพราะว่าเมื่อเดินทางจากภูเก็ตไปทำงานเป็นกรรมกรเหมืองแร่ที่จัดหวัดพังงานั้น มือที่เคยใฝ่ฝันว่าจะร่ายรำปากกา กลับต้อง ไปถือค้อนตีเหล็กเสียแล้ว โอย...เจ็บปวดจริง มือที่ต้องการถือปากกาอันเบาหวิว ต้องไปคอนค้อน

อันหนักอึ้ง  มันคนละทางเสียแล้ว จิตใจมันถูกความท้อถอยแทะเสียจนกร่อน  จะเขียนหนังสือได้อย่างไร ในเมื่อความรู้สึกนึกคิดเหนื่อยหอบไปด้วยงานที่ต้องใช้กำลัง...”

หลังจากเรื่องสั้น “ผู้กล้าหาญ”ลงในพิมพ์ไทยรายเดือนดังที่กล่าวข้างต้น ไม่มีเสียงสะท้อน

จากผู้อ่าน อาจินต์  ปัญจพรรค์จึงไม่มีกำลังใจเขียนส่งไปอีก ประกอบกับงานในเหมืองในแต่ละวันที่หนักอึ้งด้วย ดังที่เขาบอกเล่าความรู้สึกในเรื่อง “สนิมแร่”ว่า...

“งานเหมืองแร่อันตรากตรำ ทำให้ฝ่ามือของข้าพเจ้าพยาบกร้าน ไม่ละมุนละไมสำหรับจับปากกา มือที่เปรอะเปื้อนน้ำมันขี้โล้ เมื่อหยิบกระดาษ กระดาษก็เปื้อน ความอยากเขียนหนังสือได้ถูกสภาพแวดล้อมอันเคร่งเครียดเหล่านี้ ไล่ไปจนสุดมุมหัวใจอีกข้างหนึ่งเสียแล้ว จึงต้องโยนปากกาลงไปในถังแร่ดีบุก

...การที่เรื่องของข้าพเจ้าสองเรื่องได้ลงในนิตยสารขายดีในระยะติด ๆ กันนั้น ก็เป็นเพียงแตรวงบรรเลงแก้บนสองเพลงในชีวิตอันว่างเปล่ายาวยืดของข้าพเจ้า เมื่อเลิกแล้วก็แล้วกันไป ข้าพเจ้าจะเป็นนักเขียนได้อย่างไรในท่ามกลางเสียงโฉ่งฉ่างของเครื่องจักรบนเรือขุดแร่และข้าพเจ้าจะเขียนหนังสือได้อย่าไรด้วยกล้ามเนื้อที่เพลีย และสมองที่ต้องการพักผ่อนและคิดอ่านหมกมุ่นอยู่กับงานประจำ...”

 

“ในเรื่องการเขียน อย่ามัวคิดสร้างสำนวน สำนวนคือสร้อยเพลง เอาความจริงในชีวิตมาเขียนให้คนอื่นอ่าน  คนอื่นไม่รู้ความจริงในชีวิตเราเท่าเราเขียน เรื่องจริงคือเสน่ห์ของความจริง”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)