ยูร   กมลเสรีรัตน์

[email protected]

กลับเมืองหลวง

1.ตั้งเข็มปากกา

อาจินต์ ปัญจพรรค์ทำงานเหมืองแร่ตั้งแต่อายุ 22 ปี จนถึง 26 ปี เป็นเวลา 4 ปี เขาไตร่ตรองดูแล้ว ถ้ายังจมปลักกับการเป็นคนงานเหมืองที่นี่ แม้จะไม่ได้ถือค้อนเหล็กทุบถ่านหินเหมือนอยู่เหมืองเก่า แต่ชีวิตก็ไม่มีอะไรก้าวหน้า ยังคงเป็นลูกจ้างเดินตามหลังเจ้านายต้อย ๆ  

เขาจึงตั้งเข็มชีวิตเพื่อไปสู่ความฝันของตัวเอง ตัดสินใจลาออกจากบริษัทกระโสมทิน  เดร็ดยิ่ง จำกัด หวนคืนสู่กรุงเทพฯขณะที่อายุได้ 26 ปีพอดี เมื่อปีพ.ศ.2496

หลังจากกลับมาอยู่กรุงเทพฯใหม่ ๆ บิดามีความห่วงใยอนาคตของเขาที่ไม่มีงานเป็นหลักเป็นแหล่ง จึงแนะนำให้เขาไปทำงานเหมืองแร่วูลแฟรมทางภาคเหนือ แต่อาจินต์ ปัญจพรรค์ปฏิเสธ ไม่ว่าเหมืองแร่ที่ไหน ต่อให้งานไม่หนักเท่าเหมืองแร่แห่งแรก ก็ไม่ไปทำทั้งนั้น

เขาแสดงความมุ่งมั่นกับบิดาว่า เขาต้องการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  เขาได้เปิดเผยความรู้สึกตอนนี้ไว้ในเรื่อง “จากเหมืองแร่สู่เมืองหลวง”ว่า...

“ก้มหน้าเขียน... เขียนบนกระดาษฟุลสแก้ปที่เขาทำไว้ขายนักเรียน เขียน...เขียน เขียน ตั้งเช้าจนดึกงัวเงีย เพื่อส่งไปลงตะกร้าของบรรณาธิการทั่วกรุงเทพฯ ฟลุ้คบ้างได้ลง บ้างก็ลงฟรี บรรณาธิการใจดีก็ให้เงินตามราคานักเขียนหน้าเปิ่น”

ในปีแรกอาจินต์ ปัญจพรรค์มุ่งมั่นทำความฝันของตัวเอง ด้วยการอยู่บ้านเขียนหนังสือ ไม่เที่ยวเตร่ เขาเขียนส่งไปนิตยสารต่าง ๆ มากมาย จะได้ค่าเรื่องหรือไม่ได้ไม่เกี่ยว ขอแต่มีชื่อของตัวเองปรากฏ ดังที่เขาบอกเล่าต่อว่า. ..

“...เขียนในราคาถูกที่สุด บางเรื่องไม่ได้ตังค์เลย เขียนส่งไปทุกเล่ม สตรีสารก็ส่ง ได้ลงกลอนชิ้นหนึ่งก็พอใจแล้ว อาศัยพี่อุ่ม(ชอุ่ม ปัญจพรรค์)ให้เบี้ยเลี้ยงวันละ 20 บาท ดูหนังทั้งรอบบ่ายรอบค่ำ หาพล็อตด้วย ข้าวมีกินขากลับมีสตางค์เหลือ ซื้อกระดาษฟุลสแก๊ปวันละสองโหล... ”

ช่วงนั้นอาจินต์ ปัญจพรรค์จะแวะไปแถวคลองหลอดบ่อยครั้ง เพราะมีโกดังหนังสือเก่า เขาจะซื้อหนังสือการ์ตูนฝรั่ง เพื่อฝึกฝนภาษาอังกฤษ เพราะเข้าใจง่าย

จากนั้นเขาก็แปลงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะภาษาอังกฤษของเขาอยู่ในขั้นใช้ได้ ซึ่งเกิดจากที่เขาได้ทำงานใกล้ชิดนายฝรั่ง ประกอบกับเขามีสนามงานแปลคือ โฆษณาสารที่ชอุ่ม ปัญจพรรค์เป็นบรรณาธิการ...

“ผมแปลเรื่องโคบาล พี่สาวเป็นบรรณาธิการหนังสือของกรมโฆษณาสาร ลงให้บางเรื่อง ได้ค่าเรื่องชิ้นละสี่สิบบาท”

ในที่สุด เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่จากประสบการณ์ชีวิตอันเหนื่อยหนักที่เขาผจญมาเป็นเวลา 4 ปี ก็ได้ลงเป็นเรื่องแรกในหนังสือโฆษณาสาร นั่นก็คือเรื่อง “ผีตัวแรก” นอกจากนี้ก็มีงานเขียนบทวิทยุบ้างเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ของสถานีวิทยุททท.และเขียนนวนิยายเป็นเรื่องแรก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหมืองแร่เรื่อง “บ้านแร่”ลงในโฆษณาสาร แต่เขียนได้ไม่กี่ตอน ก็ป่วยเป็นโรคปอด ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้ต้องหยุดเขียนนวนิยายเรื่องนี้ไปเลย

“เรื่องสั้นที่ได้ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์เป็นเรื่องแรก จำได้แม่นยำ เป็นฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2497 เรื่อง “สัญญาต่อหน้าเหล้า”ใช้นามปากกา “จินตเทพ” ที่จำได้แม่น เพราะเป็นฉบับปฐมฤกษ์”ท้ายประโยคของอาจินต์ ปัญจพรรค์ดังหนักแน่น

เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่เริ่มสร้างชื่อให้กับอาจินต์ ปัญจพรรค์ ก็ไม่น่าจะผิด เมื่อมีจดหมายจากคนอ่านชื่อประสัตถ์ ปันยารชุน เขียนไปถึงประหยัด ศ.นาคะนาท ซึ่งทำหน้าที่บรรณาธิการคัดเรื่องสั้นว่า ชอบเรื่องสั้นจากเหมืองแร่

อาจินต์ ปัญจพรรค์เปิดเผยถึงความรู้สึกในการส่งเรื่องสั้นไปยังสนามเรื่องสั้นของสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งมีเสียงที่สุดในยุคนั้น มีประหยัด นาคะนาท เป็นบรรณาธิการและประมูล อุณหธูป เป็นผู้คัดเรื่องสั้นว่า...

“เรื่องที่ส่งได้ลงสยามรัฐฯ ส่งทางไปรษณีย์ ไอ้ความยากไร้ วัยที่ตั้งตัว กาวก็ไม่มี มีกระดาษฟุลสแก๊ป เขียนเสร็จแล้วเอาข้าวสุกปิดห่อ... จดหมายเราก็ใส่ก๊อปปี้ เผื่อไปรับเงินเขา ไม่รู้จักเรา เขาจะหาว่าเราแอบอ้าง”

จดหมายชมของคนอ่านฉบับนั้น สร้างกำลังใจให้เขาเป็นอย่างมาก ไฟในการเขียนพร่างโพลงขึ้นทันที เรื่องสั้นจากเหมืองแร่จึงหลั่งไหลออกมาไม่ขาดสายราวกับสายน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง ทำให้มีเรื่องสั้นลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ตามมาอีกอย่างต่อเนื่องได้แก่ สุดสายฝน กฎหมายเหมือง และอีกมากมาย ในภายหลังมีเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่และเรื่องอื่น ๆ ลงในนิตยสารชาวกรุงด้วย

 

 

“ผลงานของนักเขียนคือ ทูตผู้มีเกียรติทางภาษา”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)