ประเด็นปัญหาการลาออกของแพทย์จบใหม่ ที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากรับภาระงานหนักจนเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิต มีกระแสตอบรับมาจากหน่วยงานหลัก ที่กำกับดูแลโดยตรง คือ กระทรวงสาธารณสุข

โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประเด็นปัญหาขาดแคลนแพทย์ว่า ปัจจุบันมีจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอต่อภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น  ไม่เฉพาะวิชาชีพแพทย์ แต่มีวิชาชีพอื่นด้วย ทั้งพยาบาล  นักรังสีการแพทย์ และวิชาชีพอื่น ๆ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแพทย์ที่อยู่ในระบบขึ้นทะเบียนจำนวน 50,000 - 60,000 คน แต่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คนคิดเป็น 48% ในขณะที่ภาระงานจะอยู่ที่ประมาณ 45 ล้านคนของจำนวนประชากรที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยภาระงานเฉลี่ยแพทย์อยู่ที่ 1:2000 คน ซึ่งตามมาตรฐานของโลกมีสัดส่วนอยู่ที่ 3:1000 คน

น.อ.ทวีศิลป์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมิน พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานเกิน 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถึง 9 แห่งจาก 117 แห่ง ในขณะที่มาตรฐานโลกชั่วโมงการทำงานต้องต่ำกว่า 40 ชั่วโมง

ในขณะที่การผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ทางกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีแผนที่จะผลิตแพทย์เพิ่มเติมในระบบ โดยปรับกรอบอัตราเพิ่มกำลังใหม่ซึ่งจะประกาศใช้ในปี 2565 - 2569 วางกรอบของแพทย์ไว้ที่ 35,000 คนในปี 2569 อีกทั้งต้องพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการขยายอัตราบรรจุแพทย์เพิ่ม รวมทั้งแนวทางในการแก้ปัญหาสำหรับวิชาชีพอื่น ๆ เช่นพยาบาล

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่ามีสัญญาณที่น่าเป็นห่วง จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีสถานการณ์การณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นปัจจัยเร่ง ประกอบกับเทรนของอาชีพที่เหมาะกับยุคดิจิทัล  อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกเรียนสาขาแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้องในอนาคต

การเตรียมความพร้อมของผู้รับผิดชอบนโยบาย โดยเฉพาะว่าที่รัฐบาลหน้าที่จะต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รวมทั้งนโยบายในการส่งเสริมการดูแลรักสุขภาพ ที่มีรางวัลสุขภาพดีกลับคืนสู่ประชาชน อาจช่วยลดภาระของแพทย์ ที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อม ที่ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ไม่ทำให้เกิดโรค อีกทั้งยังมีอีกหลายมิติที่ผู้มีปัญญาจะช่วยกันขบคิด จากการปัญหานี้