ในการประชุมพรรคการเมือง 8 พรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล มีวาทกรรมที่ถูกพูดถึงในสังคมอย่างมาก จากนักการเมืองอาวุโส อย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ทที่กล่าวท้วงติงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในบางช่วงบางตอนว่า อยากให้สื่อมวลชนได้สะท้อนความรู้สึกและความต้องการของประชาชน

“ผมอยากให้สื่อมวลชนได้สะท้อนความรู้สึกของประชาชนมากกว่าเรื่องกกต.ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของคน ไม่กี่คน ประชาชนกว่า 70 ล้านคนอยากสะท้อนอะไร ผมว่าอันนี้คือปัญหาใหญ่ ของประเทศเราในวันนี้ และเป็นปัญหาใหญ่ ของประชาธิปไตย เราเลิกกลัวเรื่องเผด็จการ กันเสียที ควรจะหมดยุคของการฟังเผด็จการ อยากให้เป็นเวลาประชาธิปไตยของประชาชน เขาอยากจะได้รัฐบาลของประชาชน”

โดยวลี “หมดยุคเผด็จการ” เป็นวลที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง

หากหันมาดูบริบทของการเมืองไทยในปัจจุบัน เราผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้งหลังรัฐประหาร คำกล่าวที่ว่า “หมอยุคเผด็จการ”นั้นจึงเป็นข้อเท็จจริง ในเชิงสัญลักษณ์

แต่ข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์นั้น นอกจากเราจะยังพบร่องรอยและมรดกของเผด็จการอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 60  แล้ว และเผด็จการซ่อนรูปผ่านบุคลากรที่มีความเชื่อมโยงและสายสัมพันธ์กับเผด็จการ เป็นต้น

ทว่า ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราได้เห็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ Information Operation (IO) ที่สร้างชุดความคิดต่อสู้กันของ 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ยกตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และโจมตีอีกฝ่ายเป็นเผด็จการ ฝ่ายที่ยกเป็นผู้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และโจมตีอีกฝ่ายว่าเป็นกลุ่มจ้องล่มล้างสถาบัน  ที่ IO ไปกันได้ดีกับสื่อใหม่ชนิดที่สอดประสานกันจนเนียนกริบ และยกระดับ IO ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โซเชีบลมีเดียจึงติดอาวุธให้กับ IO มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง

โดยเฉพาะปัจจุบันที่ บรรยากาศการเมืองยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ในการจัดตั้งรัฐบาลและกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติของว่าที่ผู้นำรัฐบาลนั้น IO ยังคงทำงานอย่างไม่ลดละ และยิ่งยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในการเข้าโจมตีฝ่ายที่คิด หรือเห็นต่าง

จึงได้เห็นปฏิบัติการพร้อมใจกันโจมตี ผู้เห็นต่าง หรือที่เรียกว่าทัวร์ลง หรือถล่ม ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เผด็จการทำ