ความเดิมต่อจากตอนที่แล้ว ที่กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้นำเอาไว้ อันมีที่มาจาก หนังสือ “ภาวะผู้นำ  & จริยธรรมนักการเมือง”   โดยพระธรรมโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สมัยยังเป็นพระพรหมคุณาภรณ์  ท่านได้เขียนไว้ ใน (เผยแพร่ในรูปแบบ E-book https://www.pagoda.or.th/case-study/download/6536/577/52.html?method=view)  “สยามรัฐ”ขอหยิบยกมาดังนี้

“…องค์ประกอบเหล่านั้น คือ

1.ตัวผู้นำ จะต้องมีคุณสมบัติภายในของตนเอง เป็นจุดเริ่มและเป็นแกนกลางไว้

2. ผู้ตาม โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับผู้ตาม หรือเราอาจจะไม่เรียกว่า ผู้ตาม ในพุทธศาสนาก็ไม่ได้นิยมใช้คำว่า ผู้ตามเราอาจจะใช้คำว่า "ผู้ร่วมไปด้วย"

3. จุดหมาย โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับจุดหมาย เช่น จะต้องมีความชัดเจน เข้าใจถ่องแท้และแน่วแน่ในจุดหมาย เป็นต้น

4. หลักการและธีการ โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับหลักการและวิธีการที่จะทำให้สำเร็จผลบรรลุจุดหมาย

5.สิ่งที่จะทำ โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสิ่งที่จะทำ

6. สถานการณ์ โยงด้วยคุณสมบัติที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม หรือสิ่งที่จะประสบ ซึ่งอยู่ภายนอก ว่าทำอย่างไรจะผ่านไปได้ด้วยดี ในท่ามกลางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่ประสบ เช่นปัญหา เป็นต้น

นี่คือองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้นำที่จะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้เป็นผู้พร้อมที่จะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องบังเกิดผลดีในเวลาที่จำกัดนี้ อาตมภาพคงไม่สามารถพูดได้ครบทุกภาวะผู้นำอย่าง แต่ข้อสำคัญจะเห็นได้ว่า เมื่อเป็นผู้นำ ก็มีผู้ที่ร่วมไปด้วย หรือว่า เพราะมีผู้ร่วมไปด้วย จึงเป็นผู้นำได้

ฉะนั้น คุณสมบัติที่สำคัญมาก ก็คือ คุณสมบัติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้นำเองกับผู้ที่ร่วมไปด้วยนั้น ซึ่งต้องถือเป็นหลักใหญ่ เราอาจจะพูดเน้นที่ข้อนี้ ส่วนคุณสมบัติข้ออื่นจะพูดประกอบไปก็ได้…”(จบ)

เราหวังว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะเป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำที่ถึงพร้อม ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้ในหลายมิติ  เพื่อที่จะได้นำพาประเทศไทยเจริญวัฒนาถาวรสืบไป