ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

กลับเมืองหลวง

4. ตำนาน “โอเลี้ยง 5 แก้ว”

ในปี 2508 ช่วงเวลา 4 ปี ก่อนที่อาจินต์ ปัญจพรรค์จะอำลาบริษัทไทยโทรทัศน์ เขามีเรื่องสั้นลงเป็นประจำที่สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์และชาวกรุง ซึ่งมีนพพร บุณยฤทธิ์เป็นบรรณาธิการ วันหนึ่ง เลิกงานทีวี เขาไปร้านหนังสือใหญ่ใต้ถุนโรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ใกล้วัดเทพศิรินทร์ เจ้าของร้านจำเขาได้ว่าเจอกันในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง จึงเข้ามาทักทาย แล้วชมว่า

“เรื่องชุดเหมืองแร่ของคุณที่เขียนในสยามรัฐ ชาวกรุง สนุกมากครับ”

“แล้วทำไมคุณไม่รวมเล่มให้ผมล่ะ”เขาได้โอกาสถามซะเลย

“ถ้าพิมพ์ ก็มีคนอ่านสองคนคือคุณกับผม”เขาตอบอย่างเล่นลิ้น“คนอื่นจะไม่ซื้อ เพราะเขาจะซื้อแต่นวนิยายเรื่องยาวรวมเล่ม ไม่มีใครรวมเรื่องสั้น”

อาจินต์ ปัญจพรรค์กลับไปถึงบ้าน นึกถึงคำพูดของเจ้าของร้านหนังสือแล้ว เห็นภาพหนังสือนวนิยายปกแข็งเรียงรายอยู่บนชั้น ล้วนเป็นผลงานของนักประพันธ์ใหญ่ บางเรื่องหลายเล่มจบ

“แต่เขาบอกว่าเรื่องสั้นขายไม่ได้ นวนิยายขายดี ผมเห็นนวนิยายของพี่อุ่ม(ชอุ่ม ปัญจพรรค์) เป็นนักประพันธ์ใหญ่ ที่ชั้นหนังสือ  สมัยนั้นนวนิยายของนักเขียนหญิงขายดีมาก”

หลังจากปรึกษาคนในวงการหนังสือแล้วว่า พิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งใช้ทุนเท่าไหร่ เห็นว่าพอสู้ไหว มีเงินก้อนหนึ่งฝากไว้ที่ธนาคารออมสินได้ 6 เดือนแล้ว เพื่อจะได้ควบคุมตนเองไม่ให้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายตามประสาคนมือเติบ

เขาไหว้วานชายหนุ่มอายุน้อยกว่าเขาชื่อ พยนต์ เนติโพธิ์ เป็นผู้ประสานงานกับโรงพิมพ์พยนต์ชอบไปเที่ยวสถานีโทรทัศน์บางขุนพรหม จนสนิทสนมกัน ขับรถพาเขาไปท่องราตรีด้วยกันเขาจึงตัดสินใจ “เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง” ซึ่งนี้เรื่องนี้ไม่เคยมีมาก่อนในวงการหนังสือ

อาจินต์ ปัญจพรรค์ตัดสินใจพิมพ์ผลงานของตัวเองจากเงินทุนที่เก็บหอมรอบริบ ทั้งที่รู้แก่ใจว่าการพิมพ์เอง ขายเองเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก อาจจะขาดทุนป่นปี้ จนหมดตัวได้ แต่แรงผลักดันดังที่

กล่าวข้างต้น ทำให้เขาฮึดสู้ บอกตัวเองด้วยความเด็ดเดี่ยว ดังที่กล่าวไว้ในคำนำรวมเรื่องสั้นเล่มแรก “ตะลุยเหมืองแร่”พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2518...

“ผู้อ่านอยากอ่านหนังสือดี ๆ ตัวเราอยากเขียนเรื่องดี ๆ มันก็มาพบกันเข้าแล้วซีที่จุดนัดพบ ซึ่งต้องค้นหาเอาเอง ต้องเสี่ยงมาเป็นคนพิมพ์ขายเอง เพราะจะรอคัดเลือกจากพวกฮ่องเต้แห่งวงการมิไหวแล้ว  เขาร่ำรวยเพราะวรรณคดีไทย โดยที่ไม่รู้จักเลยว่าวรรณคดีว่าคืออะไร เขาเอาเงินพูด เขาเอาความยากจนของนักเขียนเป็นแต้มต่อ เพื่อกดคอซื้อเรื่องได้ถูก ๆ แล้วยังเบ่งบารมีเป็นเจ้าหนี้บุญคุณ

อย่าเลย พิมพ์ขายมันเองนี่แหละ หนังสือจ๋าช่วยข้าด้วย ผู้ซื้อจ๋าช่วยข้าด้วย ข้าจะถวายชีวิตให้ ข้าเป็นคนไทย รักภาษาไทย รักคนไทยที่ต้องการอ่านเรื่องดี ๆ ทำไมข้าจะขอรับเดนคัดเลือกจากผู้ไม่รู้จักหนังสือไทยเลย ไม่รักเมืองไทยเลย รักแต่เงินไทย ทำไมจะรอคนไม่กระดิกหูในภาษาศาสตร์ มากระดิกเรียกคนอย่างเราเข้าแถวตามลำดับที่เขาจีดเอง ไปคำนับรับค่าเรื่องเศษ 1 ส่วน 10 ที่เขาจะเอาไปพิมพ์ขายได้กำไร มา-พิมพ์เอง  ขาดทุนป่นปี้ก็ให้มันรู้ไปว่าหนังสือไทยฆ่านักเขียนไทยแล้ว...”

(ลงท้ายคำนำว่า “อาจินต์ ปัญจพรรค์” 2 นาฬิกาวันใหม่ ของ 27 พฤษภาคม 2508)

อาจินต์ ปัญจพรรค์ตั้งสำนักงานในซอยข้างบริษัทยูท่าห์มาร์ติน เดย์(เชิงสะพานหัวช้าง) แต่ตอนนั้นยังไม่มีชื่อสำนักพิมพ์อย่างเป็นทางการ เขาเรียกสำนักงานของตนเองว่า “สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว” เพราะเขาชอบโอเลี้ยง  ในระยะแรกยังไม่มีโลโก้เสัญลักษณ์รูปแก้วโอเลี้ยง 5 แก้วอยู่บนปกหนังสือ โดยตั้งราคาหนังสือเล่มละ5 บาท เท่ากับโอเลี้ยง 5 แก้วในสมัยนั้น(หลายปีต่อมาจึงขึ้นราคาเป็นเล่มละ 7 บาท 10 บาท 15 บาท 20 บาทตามลำดับ)

สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว เริ่มต้นพิมพ์เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ 2 เล่มรวดพร้อมกันคือ ตะลุยเหมืองแร่และเหมืองน้ำหมึก(ตะลุยเหมืองแร่เล่ม2)

“ตะลุยเหมืองแร่” พิมพ์ 2,000 เล่ม ต้นทุนเล่มละ 95 สตางค์ หน้าปกพิมพ์สีดำตัวโตว่า “ตะลุยเหมืองแร่ โดยอาจินต์ ปัญจพรรค์”  แผ่นปะหน้าหนังสือ หรือหน้า 1ในเล่มเขียนว่า “…5 บาทที่ท่านจะกินโอเลี้ยง 5 แก้ว ขอให้ข้าพเจ้าเถิด แล้วเอาหนังสือที่ใช้เนื้อหนังเป็นกระดาษ เอาโลหิตเป็นหมึกเล่มนี้ไปอ่าน ได้ความขมหวานและเก็บเอาไว้ได้ยั่งยืนกว่าโอเลี้ยงมากนัก”

ส่วนปกหลังด้านนอกมีข้อความเต็มหน้า โดยข้อความครึ่งหลังเขียนว่า “…ถ้าหนังสือเล่มนี้ขายไม่ดีน่ะหรือ อย่าหวังเลยว่าข้าพเจ้าจะยอมแพ้ ข้าพเจ้าจะไปก้มหน้าทำงานอื่นที่ไม่รักแต่ได้เงินดี หาเงินมาทุ่มเช่นนี้อีก และจะทำอีกตลอดไป จนกว่าเรื่องชุดเหมืองแร่ของข้าพเจ้าอีก 40 เรื่องจะ

หมดลง (จำนวนเรื่องที่เขียนไว้ในเวลานั้น) หนังสือเล่มนี้ราคา 5 บาท เงิน 5 บาทเงินของท่านจะเป็นก้อนหินหนึ่งที่ถมลงไปในบ่ออันอ้างว้างที่เคยเป็นมา ระหว่างนักอ่านที่แท้กับนักเขียนผู้ซื่อสัตย์”

เขาตั้งใจตั้งราคาขายเท่ากับโอเลี้ยง 5 แก้ว โอเลี้ยงขณะนั้นราคาแก้วละบาท ขายให้พ่อค้าส่งเล่มละ 3.50 บาท ปรากฏว่าหนังสือ 2,000 เล่มขายหมดเกลี้ยงภายในเวลา 2 สัปดาห์ ซ้ำยังมีจดหมายสั่งจากต่างจังหวัดทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ สร้างกำลังใจคนวัยหนุ่มอย่างอาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นอย่างมาก แต่เขาไม่เคยลำพองใจและหลงตัวเองที่หนังสือขายดีว่า เป็นเพราะความสามารถในการเขียนของตนเอง

เขาคิดอีกมุมหนึ่งว่า อาจเป็นเพราะหนังสือราคาไม่แพงด้วยหรือคนอ่านอาจจะสงสารนักเขียนหน้าใหม่ หากเมื่อมาไตร่ตรองอย่างถี่ด้วนแล้ว ก็สรุปได้ว่า องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้หนังสือขายดีก็คือ...

“การเชียร์อย่างอึกทึกในบทความของหนังสือหลายฉบับ บทความเหล่านั้นคือพวงมาลัยที่เพื่อนร่วมอาชีพคล้องคอให้ข้าพเจ้า...”

จึงขอยกบทความในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์มาประกอบพอเป็นตัวอย่าง เริ่มจากคอลัมน์ “บันเทิงเริงรมย์” ในสยามรัฐรายวัน โดยประมูล อุณหธูป...

“ตะลุยเหมืองแร่ โดยอาจินต์ ปัญจพรรค์ จัดพิมพ์และจำหน่ายโดยผู้เขียนเอง ราคาเล่มละ 5 บาท

ตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ในชีวิตลุ่มๆ ดอน ๆ และชอบที่จะกระเดียดตัวเองไปในทางแหลก ๆ เหลว ๆ ตามอำเภอใจอยู่เป็นสิบ ๆ ปีแต่หนหลัง เคยได้พบพานเรื่องดีเดือดของคนในแง่แปลก ๆ มาก็หลายอยู่ ทั้งในกรุงและนอกกรุง แต่ก็น้อยเต็มทีนักที่จะเห็นของชวนทึ่งประทับใจได้เหมือนอย่าง เมื่อมาเจอหนังสือปกสีฟ้าลุ่น ๆ เล่มน้อย ๆ นี้ของอาจินต์ ปัญจพรรค์

...มันก็เป็นปรากฏการณ์ใหม่เอี่ยมที่ออกรสยิ่งนัก สำหรับวงการนักอ่านและตลาดหนังสือ มหกรรมครั้งนี้ของเขาก็คือ รวบรวมงานเขียนหนังสือที่เขาแสนรัก และซึ่งเขาถือเป็น “เลือดของข้าพเจ้าที่แฝงมาในน้ำหมึก”เอามาประจงวางไว้ตรงหน้า แล้วลุกขึ้นแล่เนื้อเถือหนังตัวเองเพื่อทำให้มันเป็นเล่มหนังสือขึ้นมา...

อาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นนักเล่าเรื่องที่แพรวพราวด้วยสำนวนหยอกเอินอารมณ์ ทั้งทีเล่นและ

ทีจริง พร้อมกันนั้นก็ได้เรื่องได้ราวทันใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลึกซึ้งถึงไหนถึงกัน หรือจะเป็นเรื่องแค่หญ้าปากคอก ซึ่งชวนให้เพลิดเพลินเจริญใจไปได้จนสุดกู่ ก่อนที่จะพามาส่งกลับที่เดิมตรงปากคอก คุณสมบัติในความเป็นนักเขียนของเขาเป็นของหายาก ซึ่งน่าจะถนอมรักษาเอาไว้ในวงการหนังสือยุคนี้...”               

อาจินต์ ปัญจพรรค์เพิ่งกลับจากสัมมนานักเขียนเอเชียและแอฟริกาที่กรุงเมอสโคว์ พอลงจากเครื่องบิน เขารีบควานหาซื้อหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน อ่านข้อเขียนที่ประมูล อุณหธูปเขียนในคอลัมน์ 3 วันซ้อน พออ่านจบ น้ำตาไหลด้วยความปิติและตื้นตันใจ แล้วเขียนลงไปในการ์ดส่งไปให้ ดังข้อความที่ว่า...

“คุณมูล ที่เคารพรัก

คราวนี้ผมจะไม่ช้ำคว่า ขอบคุณ แต่ผมกราบเลยครับ อ่านที่คุณมูลเขียนให้แล้วน้ำตาไหล ไม่ใช่ดีใจที่คุณมูลชมเชย แต่น้ำตาไหลเพราะไม่เคยคิดเลยว่า คุณมูลจะใจดีกับผมถึงเพียงนี้

ถึงแม้หนังสือจะขายไม่ได้แม้แต่เล่มเดียว ผมก็ภูมิใจ เพราะบทความของคุณมูล  เพราะบทความของคุณมูลได้เหมาหนังสือผมทั้งหมดแล้ว”

ข้อเขียนต่อไปเป็นของ “ไก่อ่อน”(บรรเจิด ทวี)แห่งไทยรัฐ...

“...หนังสือ ‘ตะลุยเหมืองแร่’เล่มนี้ ยังเป็นเพียงเล่มที่หนึ่งของเขา เล่มต่อไปยังจะผุดเกิดตามขึ้นมาอีก ไม่ว่าหนังสือเล่มนี้จะขายดีหรือไม่ก็ตาม อาจินต์ ปัญจพรรค์ก็คงจะพิมพ์ต่อไปจนกว่า “เรื่องเหมืองแร่ของข้าพเจ้าอีก 40 เรื่องจะหมดลง ปากกาเขียนหนังสือของเขา แม้แต่คนอย่าง‘อิงอร’และ‘รพีพร’ อ่านแล้วจังชอบใจ ทำไมนักเลงหนังสือจึงจะใจแข็ง ทอดทิ้งหนังสือนี้ล่ะ?”

คอลัมนิสต์คนต่อไปที่เขียนถึงคือ “สนทะเล”(เสริมศรี เอกชัย)...

“...หนังสือเล่มนั้นเขียนขึ้นอย่างประชดตัวเอง แต่เขียนขึ้นเพราะอยากประชดสำนักพิมพ์ที่ซื้อเรื่องถูก ๆ พ่อก็เลยพิมพ์มันเสียเอง...ฉิบหายไม่ว่า  ต้องการชื่อเสียง11

...ลงเว้ากันซื่อ ๆ อย่างนี้ ใจคุณจะดำพอที่จะไม่อุดหนุนเค้าบ้างเชียวรึ !

‘ตะลุยเหมืองแร่’เป็นชื่อของหนังสือเล่มละ 5 บาท เขียนขึ้นจากประสบการณ์จริง ๆ ในชีวิตของเขา ซึ่งอาจจะมีราคาสักล้าน อาจินต์ ปัญจพรรค์อาจจะอายเกินไปที่เขาถูกรีไทร์ออกมาจากจุฬาฯ แต่เขาไม่อายเลย เมื่อเล่าเรื่องการศึกษาชีวิตที่แท้จริง เขาอาจไม่จบจุฬาฯ แต่ก็จบส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยชีวิตมาแล้ว บัณฑิตจุฬาฯ บางคนยังไม่สามารถจะเรียนรู้มันเสียด้วยซ้ำ...”

รัตนะ ยาวะประภาษ แห่งพิมพ์ไทยหลังข่าว เขียนไว้ในคอลัมน์ “แผ่นดินที่รัก”ยาวเหยียด ขอตัดตอนมาลง...

“...หนังสือของอาจินต์ ปัญจพรรค์เหมาะสำหรับคนอ่านทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหมาะสำหรับคนผิดหวัง เขาเป็นคนหนึ่งในจำนวนคนผิดหวังของโลกที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะเขาเอาความผิดหวังครั้งนั้นเปลี่ยนพลังงานสร้างความสำเร็จขึ้นมาได้ ความผิดหวังนั้นไม่เคยฆ่าคน นอกจากจะเอาความผิดหวังมาเป็นอาวุธประหารตัวเอง...

หนังสือของอาจินต์ ปัญจพรรค์ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งแก่เด็กหนุ่มสาวในทุกวันนี้ ซึ่งความผิดหวังในสิ่งแวดล้อม กำลังทุกกระหน่ำพวกเขาอยู่อย่างโหดร้ายทารุณทุกวัน ฉันคิดว่าเมื่อคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คุณคงจะรู้สึกเหมือนฉัน”

นอกจากนี้ยังมีคนอื่น ๆ ที่อาจินต์ ปัญจพรรค์ให้ความนับถือเขียนถึงอีกหลายคนด้วยกันได้แก่ เจียม แห่งหลักเมือง ถาวร ทองเกลี้ยง แห่งวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ แจ๋ว วรจักร (สง่า อารัมภีร) ไทยรัฐวันอาทิตย์ จิ๋ว บางซื่อ แห่งชาวกรุง

สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้วประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดคิด หลังจาก “ตะลุยเหมืองแร่”ขายทะลุเป้า จนต้องพิมพ์ซ้ำ จึงจัดพิมพ์ผลงานเล่มอื่น ๆ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ตามมาอีกได้แก่ เหมืองน้ำหมึก เสียงเรียกจากเหมืองแร่ สวัสดีเหมืองแร่ ธุรกิจบนขาอ่อน ตะลุยอเมริกา-ผ่าตัดรัสเซีย ลุยทะเลคนเล่ม 1 ฯลฯ บางเล่มพิมพ์ซ้ำหลายครั้งตามเสียงเรียกร้องของคนอ่าน

ในเวลาต่อมาหนังสือที่พิมพ์ออกมาเริ่มปรับปรุงให้สวยงามขึ้น รวมทั้งมีโลโก้สำนักพิมพ์เขียนลายเส้นเป็นแก้วโอเลี้ยงใส่น้ำแข็งลอยอยู่ 3 ก้อนและมีหลอดดูดที่ใครๆ เรียกว่า “สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว” 

 

 

“นักเขียนคือคนธรรมดาสามัญ มีความรักที่จะเขียน เขาเก็บวัตถุดิบ เลือกสรรมาปั้นด้วยจินตนาการ แล้วถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาเขียน”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)