มีข่าวดีสำหรับประเทศไทย เมื่อรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 หรือ Sustainable Development Report 2023 ขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ระบุว่าการพัฒนาของประเทศไทยดีขึ้น โดย SDG Index ของไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 จากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 166 ประเทศ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 44 ในปีที่ผ่านมา

ซึ่งน่าสนใจว่า การประมวลผลเป็น SDG Index ของแต่ละประเทศ มีตัวชี้วัด 17 ด้านคือ 2.การขจัดความหิวโหย 3.การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี4.การศึกษาที่มีคุณภาพ 5.ความเท่าเทียมทางเพศ 6.การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี7.การมีพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ 8.การมีงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

9.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม 10.การลดความเหลื่อมล้ำ 11.การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน 12.การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน 13.การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 14.การอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล 15.การรักษาระบบนิเวศบนบก 16.การมีสังคมสงบสุข ยุติธรรมและมีสถาบันที่เข้มแข็ง และ 17.ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 อีกด้านหนึ่งข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย พบว่าความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นท้าทายของประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ปรับเพิ่มจาก 7.7 ล้านล้านบาท ในปี 2551 เป็น 10.2 ล้านล้านบาท ในปี 2563

สถานะความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนคนจนลดลงจาก 65% ในปี 2531 เหลือเพียง 6.3% ในปี 2564 แต่หากมองเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2564) สัดส่วนคนจนไม่ได้ลดลง แต่กลับคงตัวอยู่ที่ 6-8% โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตรกว่า 11% ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มทวีปเอเชียด้วยกัน ความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

ส่วน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)ยอมรับว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของคนไทย เป็นหนี้ครัวเรือนที่เกิดกับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของธ.ก.ส. ดังนั้น จึงอยู่ในความรับผิดชอบของธ.ก.ส.ที่จะดำเนินการแก้ไข โดยตนได้มอบหมายให้ธ.ก.ส.เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรพร้อมกับ การให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องของการบริหารจัดการเงิน โดยเกษตรกรรายใดมีหนี้ ต้องเข้าเจรจากับธ.ก.ส. เพื่อขยายงวดการชำระ ถ้ามีเงินน้อย ก็ขอชำระน้อย วิธีการดังกล่าวจะต้องทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้การบริหารจัดการเงินของเกษตรกร เพื่อทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนทยอยลดลง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งส่งผลให้ปัญหาหนี้เสียได้ทยอยลดลงโดยจากเมื่อต้นปี 2565 สัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 12% ของสินเชื่อโดยรวม แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือประมาณ7% และในปี2566 ตั้งเป้าหมายว่า ธ.ก.ส.จะมีสัดส่วนหนี้เสียเพียง 3-4%

เราเห็นว่า เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ ในการยกระดับภาคเกษตรและประชาชนทุกกลุ่ม ให้พ้นเส้นความยากจน