รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังได้มีนโยบายที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง จึงได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน ถึงแม้ว่าปัจจุบันได้ผ่านพ้นปี 2565 ไปแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 4 ของปี 2565 พบว่า ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ที่ร้อยละ 86.9/GDP คิดเป็นมูลหนี้ 15.09 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการก่อหนี้จากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ แต่ที่ต้องจับตามอง คือ ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ สินเชื่อกลุ่มสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และหนี้เสียที่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรกดเงินสดเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่มูลค่าและจำนวนบัญชีเมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยความครอบคลุมที่เพิ่มขึ้นมาจากผู้ให้กู้ 4 กลุ่ม โดยยอดหนี้แต่ละกลุ่ม ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 ประกอบด้วยหนี้เพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.83 แสนล้านบาท กลุ่มสหกรณ์อื่นๆ (ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพ์ย) 265 แสนล้านบาท การเคหะแห่งชาติ 1.1 หมื่นล้านบาท และพิโกไฟแนนซ์ 6 พันล้านบาท ซึ่ง ธปท.มีข้อมูลของกลุ่มผู้ให้กู้เหล่านี้ตั้งแต่ปี 2555 จึงปรับข้อมูลย้อนหลังไปถึงไตรมาส 1 ปี 2555

สำหรับยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากชุดข้อมูลที่ปรับปรุงใหม่นี้เป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 มียอดหนี้เครัวเรือนพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 7.66 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการศึกษา 4.85 แสนล้านบาท และหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ 1.83 แสนล้านบาท ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนหลังปรับปรุงมียอดคงค้าง 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากข้อมูลก่อนปรับปรุง 4.3% ต่อจีดีพี นอกจากนี้ โครงสร้างสัดส่วนที่จําแนกตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมไม่แตกต่างจากข้อมูลก่อนปรับปรุงทั้งนี้

การปรับปรุงข้อมูลหนี้ครัวเรือนดังกล่าวให้มีความครบถ้วนมากขึ้น โดยประเมินแล้วจากข้อมูลใหม่ มีความน่าเชื่อถือของวิธีการจัดเก็บและประมวลผล มีคุณภาพ อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจได้ มีความถี่ของการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลที่สม่ำเสมอ และไม่ล่าช้าเกินไป

อย่างไรก็ดี ปัญหาหนี้ครัวเรือน จะเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหา ท่ามกลางการจับตานโยบาย ฝีไม้ลายมือในการบริหาร และที่สำคัญคือบุคคลที่จะเข้ามาขับเคลื่อนนโยบาย โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องบูรณาการร่วมกัน