ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

กำเนิดฟ้าเมืองไทย

1.กลยุทธส่งเสริมการขาย

ผลงานของอาจินต์ ปัญจพรรค์ในช่วงแรก แทบทั้งหมดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว  นอกนั้นพิมพ์งานของเพื่อน ๆ และนักเขียนในนิตยสารฟ้า สำหรับนักเขียนในนิตยสารฟ้า จะเลือกพิมพ์ให้นักเขียนใหม่ที่เห็นว่ามีแวว เพื่อให้ได้เกิด เมื่อมีชื่อเสียงแล้ว จะไม่พิมพ์ให้อีก เพราะสามารถเติบโตต่อไปได้ อีกอย่างก็คือ ไม่ต้องการหากำไรจากนักเขียนในเครือ

สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้วดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2508 จนถึงราว ๆ ปี 2524 ก็เลิกกิจการ ช่วงหลังในหลายปีสุดท้ายไม่ค่อยได้พิมพ์อีก พิมพ์มากช่วงก่อนทำนิตยสารฟ้าเมืองไทยปี 2512 หนังสือที่พิมพ์ออกมาในช่วง 16 ปี มีราว ๆ 124 เล่ม เมื่อเห็นว่าสามารถเลี้ยงตัวได้ จึงตัดสินลาออกจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เพื่อทำหนังสืออย่างเต็มตัวนั่นคือที่มาของการก่อกำเนิดนิตยสารฟ้าเมืองไทย

เรื่องนี้อาจินต์ ปัญจพรรค์วางโครงการไว้นานแล้ว หลังจากได้พูดคุยกับลูกน้องของพี่ชายที่อยากทำนิตยสาร เขามีร้านทำปกหนังสือ จึงลงทุนทำโรงพิมพ์ โดยลูกน้องของพี่ชายถือหุ้นใหญ่

ในเรื่องนักเขียนที่จะติดต่อให้มาเขียน ที่มองไว้ก็คือ มีนักเขียนหลายคนด้วยกันที่เคยเอาผลงานมาพิมพ์รวมเล่มในพ็อกเก็ตบุ้ค “อาจินต์ยกทัพ”และ“กลั่นน้ำหมึก”(อาจินต์ยกทัพ กระบวนที่ 2)ได้แก่ พรานบูรพ์ มนัส สัตยารักษ์ พ. เนตรรังสี นายรำคาญ สง่า อารัมภีร สันตสิริ อิงอร รัตนะ ยาวะประภาษ ส. บุญเสนอ เป็นอาทิ

หลังจากซื้อตึกเล็ก ๆ อาจินต์ ปัญจพรรค์ก็เชิญบรรดานักเขียนมาเลี้ยงฉลองตึกใหม่ แล้วขอเรื่องไว้ล่วงหน้า ไม่ว่านักเขียนใหญ่คนนั้นจะวางมือแล้วก็ตามได้แก่ สด กูรมะโรหิต ชาญ หัตถกิจ พ. เนตรรังสี พรานบูรพ์  อมราวดี สันต์ เทวรักษ์ เหม เวชกร ส่วนพนม สุวรรณบุณย์ เป็นคนออกแบบปกหนังสือ เขาเล่าถึงที่มาของชื่อนิตยสาร“ฟ้าเมืองไทย”ว่า...

“ที่ชื่อ ฟ้าเมืองไทย เพราะได้แนวคิดมาจาก กำสรวลศรีปราชญ์ ที่บรรยายถึงความรักอันแผ่ไพศาล แม้จารึกลงบนแผ่นฟ้าก็ไม่พอ แต่ในความหมายของผมที่ตัดตอนเอามา หมายถึงความรักที่มีต่องานเขียน โดยเรานี่แหละที่จะเป็นผู้เปิดท้องฟ้าเมืองไทย เพื่อผู้ที่มีใจรักทางงานเขียนได้จารึกงานของตนให้เต็มฟ้าเมืองไทย”

นิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย”ถือกำเนิดขึ้นในปี 2512 ด้วยการร่วมทุนกัน 3 คนคือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ณัฐ ปวิณวิวัฒน์ และเสริม เตชะเกษม (ทายาทสำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ) ตั้งโรงพิมพ์อักษรไทยพิมพ์ “ฟ้าเมืองไทย”รายสัปดาห์ ในรูปเล่มขนาด 8 หน้ายกพิเศษ(ถ้าคนรุ่นหลังนึกภาพไม่ออกว่ารูปเล่มใหญ่ขนาดไหน ให้นึกภาพของมติชนสุดสัปดาห์.นิตยสารบางกอกหรือสกุลไทย) ราคา 3 บาท โดยอาจินต์  ปัญจพรรค์ทำหน้าที่บรรณาธิการ ณัฐ ปวิณวิวัฒน์เป็นผู้จัดการ ส่วนเสริม แกษมเป็นเพียงหุ้นส่วน ฟ้าเมืองไทยฉบับปฐมฤกษ์ วางตลาดเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2512 ราคาเล่มละ 3 บาท ด้วยจำนวนพิมพ์ 4,000 เล่ม

นักเขียนรุ่นลายครามที่มีชื่อเสียง ซึ่งถือว่าเป็นนักเขียนเกียรติยศ อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้เชิญมาแสดงฝีมือในฟ้าเมืองไทย ฉบับปฐมฤกษ์ด้วยนวนิยายอันหลากหลายได้แก่ เด็กบ้านสวนของ พ. เนตรรังสี พายุชีวิต ของก. ศยามานนท์ บุญเพรงพระหากสรรค์ ของศุภร บุนนาค เมื่อหิมะละลายของสด กูรมะโรหิต สำหรับสันต์ เทวรักษ์ เปิดตัวด้วยการแนะนำนวนิยายเรื่อง “แก้วสารพัดนึก” ในบทที่ 1 ก่อนจะนำลงในบทต่อ ๆ ไป

เมื่อฟ้าเมืองไทยดำเนินการมาถึงฉบับที่ 6 ปกเป็นรูปพระปฏิมาโพธิสัตว์ เป็นภาพถ่ายสไลด์สี่สี พิมพ์ด้วยระบบออฟเซ็ทสวยงาม ยอดขายเพิ่มเป็น 7,000 เล่ม หลังจากดำเนินการไปได้  3-4 ปี ยอดพิมพ์ก็เพิ่มเป็นหลายหมื่นเล่ม ในช่วงปี 2522 มียอดสูงสุดถึง 60,000 เล่ม โดยมีเฉลิมศักดิ์ รงคผลิน (หยก บูรพา) เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ

กลยูทธส่งเสริมการขายด้วยการการแจก-แถมไม่ขอระบุฉบับ ขอกล่าวถึงคร่าว ๆ ดังนี้  ปีแรก แต่ละฉบับแจก-แถม การ์ตูนเรื่อง “นางนาคพระนคร”เป็นการแนะนำ ก่อนจะนำลงในฟ้าเมืองไทย,แถมปฏิทินปีใหม่ภาพพุทธปฏิมา,แถมพ็อกเก็ตบุ้คเรื่อง “ป่า”ของจินดา ดวงจินดา,พระบรมสาทิสลักษณ์ 9 รัชกาล ปีที่ 2 แจกพระบรมสาทิสลักษณ์ของล้นเกล้าฯสองพระองค์,แจกปฏิทินปีใหม่ 2514

ปีที่ 3 แจกภาพพระเครื่องสลับกับพระบรมสาทิสลักษณ์ของราชวงศ์ทั้ง 12 ฉบับ ปีที่สาม แถมพ็อกเก็ตบุ้ค “ฟ้าเมืองไทยภูกระดึง” ,แจกปฏิทิน 9 รัชกาล รับปีใหม่ 2515 ปีที่ 4 แจกพระรูป

ฉายสมเด็จพระสังฆราช ส่งท่ายปีเก่า 2515 แจกสมุดโทรศัพท์ รับปีใหม่ 2516  สี่ปี่แรกเป็นการแจก-แถมรวม 35 ฉบับ ส่วนปีอื่น ๆ มีการแจก-แถมตามวาระโอกาส จนถึงปีที่ 11 สรุปแล้วมีการแจก-แถมรวมทั้งสิ้น 35 ฉบับ

นอกจากนี้ได้ใช้กลยุทธส่งเสริมการขายด้วยการจัดประกวดในฉบับที่ 3 โดยประกวดเรื่องสั้นชิงรางวัล 1,000 บาท ค่าของเงิน 1,000 บาท เมื่อกว่า 40 ปีก่อน ถือว่ามากโข เพราะเรื่องสั้นที่ได้ลงนิตยสารยุคที่ตลาดหนังสือเฟื่องฟูได้ค่าเรื่องโดยทั่วไปแล้วประมาณ 1,500 บาท-2,000 บาท การจัดประกวดเรื่องสั้นได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น

 ชั่วระยะเวลา 6 เดือน ก่อนหมดกำหนดส่ง มีเรื่องสั้นส่งประกวดกว่า 2,000 เรื่อง ระยะเวลาการประกวดประมาณ 50 ฉบับ จึงประกาศผลการตัดสินเมื่อฟ้าเมืองไทยขึ้นปีที่ 2 ปีที่ 3 จัดประกวดกลอน 4 วรรค ชิงรางวัล 500 บาท ประกาศผลการตัดสินเดือนละ 1 ครั้ง คราวนี้ได้รับความสนใจอย่างมากมายมหาศาลยิ่งกว่าประกวดเรื่องสั้น

การประกวดกลอนดำเนินการมาเป็นเวลายาวนานจนถึงปีที่ 14 ต้นเดือนมกราคม 2526  ก็ยุติการประกวด ระยะเวลาการประกวดรวมทั้งสิ้น 572 ฉบับ จากการตัดสิน 140 ครั้งในช่วงเวลา 11 ปี จ่ายเงินรางวัลประมาณ 70,000 บาท

หลังจากเลิกประกวดกลอนชิงเงินรางวัล 500 บาทไปไม่นาน มีผู้อ่านลงชื่อเป็นบัญชีหางว่าวมีใจความว่า ถ้าเลิกประกวดกลอนจะเลิกซื้อฟ้าเมืองไทย จึงต้องจัดประกวดกลอนขึ้นใหม่ คราวนี้เพิ่มรางวัลเป็น 1,000 บาท รวมระยะเวลาในการประกวด 80 ฉบับ ปีที่ 5 กลางเดือนเมษายน ประกวดอภินิหารพระเครื่อง ชิงเงินรางวัล1,000 บาท ประกาศผลปี 2517 รวม 80 ฉบับ...

ปีที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ 2527 ประกวดการ์ตูนชิงเงินรางวัล 1,000 บาท ระยะในการตีพิมพ์การ์ตูนที่ส่งประกวดประมาณ 23 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีการประกวดวาดรูปผีและประกวดรูปถ่ายโรงพยาบาล ชิงเงินรางวัล 2,5000 บาทในปีที่ 5 แต่ไม่ทราบจำนวนฉบับที่ตีพิมพ์

การประกวดแต่ละประเภทไม่ได้มีอย่างต่อเนื่องโดยตลอด หากบางช่วงมีการประกวดซ้อนทับกัน 2 ประเภท แต่การประกวดที่เด่นชัดและมีอย่างต่อเนื่องยืนยาวก็คือ การประกวดกลอน ซึ่งได้รับความนิยมชมชอบของนักอ่านฟ้าเมืองไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้อ่านร่วมสนุกในหัวข้อ “เชื่อหรือไม่”และ “การ์ตูนจากผู้อ่าน” ซึ่งในปีที่ 3 มีของกำนัลให้ผู้อ่านที่ร่วมสนุกทุกคอลัมน์ด้วยปากกาลูกลื่นสลักชื่อ ฟ้าเมืองไทย ถือว่าเป็นของกำนัลที่มีค่าสำหรับแฟนนักอ่านฟ้าเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง

การเปิดโอกาสที่มีความหมายสำหรับผู้รักการเขียนก็คือ เปิดคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่”ในปีที่ 2 เป็นคอลัมน์ที่มีเป็นประจำอย่างยืนยาวด้วยสโลแกน“ตะกร้าสร้างนักเขียนมาทุกยุค” ใน

ระยะแรกแม้จะไม่มีค่าตอบแทน แต่มีผลงานยของนักเขียนหน้าใหม่ส่งไปให้พิจารณามากมาย ด้วยการเขียนเรื่องสั้นขนาดสั้น มีความยาว 1หน้าครึ่ง จนกระทั่งปี 2522 จึงให้ค่าตอบแทนเรื่องละ 100 บาท           

ในปีที่ 3 การเปิดโอกาสให้ผู้อ่านร่วมสนุกยังคงมีต่อไป ปี 2515 ให้ผู้อ่านเขียนในหัวข้อ “ส่วนดีส่วนเสียในจังหวัดของข้าพเจ้า” ถัดไปอีกหลายฉบับ เปิดให้เขียนในหัวข้อ “เมื่อข้าพเจ้าตกใจที่สุด หรือ ดีใจที่สุด” ปลายปี 2515 เปิดให้เขียนในหัวข้อ “ฉันรักหมู่บ้าน” ปีที่ 12 ต้นปี 2523 เปิดให้เขียนเรื่องขำขัน “ฟ้าหัวเราะ”และ “ทายปัญหานักสืบ” ปีนี้มีของกำนัลให้ผู้ที่ร่วมสนุกด้วยเสื้อยืดตราฟ้าเมืองไทย

ทีมงานฟ้าเมืองไทยฉลาดมาก นอกจากได้ใจผู้อ่านฟ้าเมืองไทยแล้ว ยังได้เผยแพร่โลโก้ฟ้าเมืองไทยบนเสื้อที่สวมใส่อีกด้วย พอถึงปีที่ ต้นปี 2526 เปิดหน้า “ตากล้องขี้เล่น”และเปิดให้เขียนเรื่อง “ในรั้วราชสีห์” ขอกล่าวไว้เพียงเท่านี้เป็นอาทิ ฯลฯ

 

 

“ปากกาคืออาวุธของนักเขียนก็จริง แต่มันควรเป็นอาหารของนักเขียนที่ไม่มีคนซื้อเรื่องมากกว่านาฬิกา-สายสร้อย”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)