ขยับไปอีกก้าว สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล หลังขั้นตอนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานฯอีกสองคน จาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล  แม้จะมีคิวให้ได้ลุ้นกันในการลงมติเลือกรองประธานสภาฯคนที่ 1 และถือเป็นตรวจแถวเสียงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีไปในตัว กระนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียงมากกว่า 312 เสียง แต่จะต้องได้ถึง 376 เสียง อีกทั้งเป็นลงมติแบบเปิดเผย ไม่ใช่ลงมติลับ

อย่างไรก็ตาม การได้ตัวประธานและรองประธานสภาฯแล้ว ภาพของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ มีความชัดเจนมากขึ้น ในมุมมองของภาคเอกชน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากนี้ เมื่อกระบวนการเลือกประธานสภาเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเป็นในส่วนของการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ยังมีสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 3 แนวทางที่อาจจะเกิดขึ้นได้

1.ในการโหวตเลือกนายกฯ ส.ว.ให้การสนับสนุนนายพิธาจนได้คะแนนเสียงตามกฎหมายได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายฝ่ายคาดหวังให้เกิดขึ้น หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี การประกาศนโยบายและการขับเคลื่อนว่าจะมีความโดดเด่นมาน้อยแค่ไหน รวมถึงการจัดทำงบประมาณได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อเนื่องส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของรัฐบาลเอง

2.กรณี ส.ว.ไม่โหวตสนับสนุนนายพิธา แต่ทั้ง 8 พรรคร่วมยังจับมือเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยอาจจะเสนอแคนดิเดตจากพรรคร่วมขึ้นมาแทน ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาว่า ส.ว.จะให้การสนับสนุนหรือไม่

และ 3.กรณี ส.ว.ไม่รับและเกิดการเปลี่ยนขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งก็ยังเร็วไปที่จะสรุปในประเด็นนี้ขณะที่

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย มองว่า สถานการณ์การเมืองยกสองต้องจับตามองคือ การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจะยืดเยื้อหรือไม่ ในการจัดตั้งรัฐบาลภาคธุรกิจไม่อยากเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมลงถนนมาประท้วงยิ่งซ้ำเติมต่อระบบเศรษฐกิจหากนายพิธาไม่ได้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากเป็นฝั่งพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ นายเศรษฐา ทวีสินซึ่งเป็นนักธุรกิจ ผู้มีประสบการณ์ภาคเอกชนยังพอมีความหวัง สิ่งสำคัญคือรัฐบาลใหม่ต้องเร่งสรรหามือเศรษฐกิจผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานเมื่อเสนอรายชื่อ ประชาชน นักลงทุนทั้งในและต่างชาติ แค่เห็นชื่อกระแสตอบรับทันที เพราะมีประสบการณ์ทำงานจะทำให้สร้างความเชื่อมั่นกับทุกฝ่าย เพื่อเข้ามาเร่งแก้ปัญหาหนี้ การส่งออกชะลอตัว  การเติมกำลังซื้อให้รายย่อย

ถือเป็นการสะท้อนมุมมองจากภาคเอกชน ในขณะที่การเมืองไทยยังมีความซับซ้อน และชิงไหวชิงพริบกันจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย ที่จะต้องจับตาผลของการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี