น่าสนใจข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 2 พรรคการเมือง คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ก่อนที่จะได้ข้อยุติเรื่องตัวบุคคลเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุไว้ 4 ข้อนั้น มีเนื้อหาบางช่วงบางตอน ในข้อที่ 4 ที่มีการตั้งข้อสังเกตในเนื้อหาและนัยยะที่ต้องตีความ ถึงทิศทางต่อไป

โดยในข้อ 4 ระบุว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง  และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และ ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ

มีนักกฎหมายอย่าง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า... “ นิรโทษกรรม ฉบับ ก้าวไกล และ เพื่อไทย อ่านข้อตกลงร่วมของพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 กค.2566 ข้อที่ 4 ความว่า"ร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง 

ปัญหา ที่จะเกิดขึ้น คือ คดีแสดงออกทางการเมือง คือ อะไร? สภาผู้แทนราษฎรชุดก่อนๆ เคยพิจารณาเรื่องคดีการเมืองมาแล้ว แต่หาข้อยุติไม่ได้ จนนำไปสู่ กม.นิรโทษกรรมสุดซอย และกลายเป็นจุดจบของรัฐบาล หากพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เห็นว่า คดีตาม ม.112 เป็นการแสดงออกทางการเมือง และคิดจะนิรโทษกรรม ผมว่า นั่นแหละ คือการเริ่มต้นจุดจบของรัฐบาล ในฐานะประชาชน ผมอยากให้พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย แสดงออกให้ชัดว่า คดีการเมืองที่จะร่วมมือกันนิรโทษกรรม คือ คดีอะไร เพื่อคนไทยจะได้ตัดสินใจได้ ว่า ควรสนับสนุนรัฐบาลหรือไม่ และที่สำคัญ เป็นสาระสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจะใช้ตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย  อย่าเดินไปในเส้นทางที่เคยมีผู้เดินไป แล้วไม่เคยได้เดินกลับออกมา”

น่าสนใจที่บ้านเรา เมื่อมีการพูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรม ก็เหมือนจะวนลูปกลับไปสู่ความขัดแย้ง และการเผชิญหน้าเช่นเดิม โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่มีเป็นหมุดหมายสำคัญของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศจะเดินทางกลับมาตุภูมิ

กระนั้น หากย้อนกลับไป ประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรม ก่อนหน้านี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายเรื่องนี้ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 มีกรอบ 4 ข้อดังนี้

1.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยตรง

2. นิรโทษกรรมในเบื้องต้นเฉพาะผู้ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว

3. ผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือหนีคดี ถ้ากลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาซึ่งจะต้องออกแบบตั้งขึ้นมา ก็สามารถจะได้สิทธิ์นี้

4. ต้องตีความกำหนดนิยามว่า “เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการชุมนุมทางการเมือง…” ให้ชัดเจน

ถ้าเป็นไปตามข้อเสนอนี้ แกนนำผู้ชุมนุมทั้ง พันธมิตรฯ, นปช., กปปส. ในส่วนคดีการเมืองก็จะได้รับการนิโทษกรรมทั้งหมด แต่จะไม่รวม นายทักษิณ ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นคดีทุจริต รวมทั้งคาดว่าจะไม่รวมผู้มีคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112

หากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่เป็น 2 พรรคใหญ่จะผลักดันตาม 4 ข้อนี้ที่นำเอามาเป็นกรอบก็น่าจะสามารถเดินต่อไปได้