แม้ไทยเราจะปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิดที่วิวัฒนาการสายพันธุ์ต่างๆ และกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคประจำฤดูกาล ทำให้เริ่มกลับมาใช้ชีวิตเกือบปกติ หลังจากนโยบายเปิดประเทศ การเดินทางท่องเที่ยวเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทย ยังขยาดและหวาดผวากับมัจจุราชเงียบชนิดนี้

อย่างไรก็ตาม โควิดทำให้สังคมไทยและสังคมโลกได้เรียนรู้และเฝ้าระวังในการเรื่องสุขภาพอนามัยอย่างสำคัญ  เมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ตั้งคำถามถึงการพร้อมรับไวรัสตัวใหม่หลังโควิดหรือยัง?

ซึ่งไวรัสชนิดดังกล่าว มีชื่อว่า“ไวรัสแลงยา (Langya)" หนึ่งในสมาชิกกลุ่มไวรัสเฮนิปา(henipavirus) ที่อาจมาแทนที่ไวรัสโควิด-19 โดยถูกตรวจพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีไข้ในภาคตะวันออกของจีน  เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565

เพจเฟซบุ๊กของศูนย์จีโนมฯ เผยแพร่ระบุว่า ดร.เอเรียล ไอแซกส์ และดร.หยู ชาง โลว์ นักวิจัยจาก School of Chemistry and Molecular Biosciences แห่ง "มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ " ประเทศออสเตรเลียได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสารวิชาการทางการแพทย์ “Nature Communications” ในเดือนนี้ (มิถุนายน 2566) ชี้ให้เห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงสูงมากที่เชื้อ“ไวรัสแลงยา ในกลุ่มเฮนิปาที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก กำลังจะมีการแพร่ระบาดใหญ่ในมนุษย์ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนก็ตาม แต่กลับพบการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนของไวรัสแลงยาและกลุ่มสมาชิกถี่ขึ้นเป็นลำดับ และหากเกิดการกลายพันธุ์เพียงไม่กี่ตำแหน่งบนจีโนมที่ส่งผลให้ส่วนหนามของไวรัสเข้าจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้นจะช่วยให้ไวรัสแลงยาสามารถก้าวข้ามจากสัตว์มาระบาดในหมู่คนได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับไวรัสโคโรนา 2019 ในอดีต ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีได้เตรียมพร้อมตรวจสอบรหัสพันธุกรรมอย่างรวดเร็ว (mass array genotyping) เพื่อตรวจจับไวรัสแลงยาดังกล่าวจากสิ่งส่งตรวจแล้ว

บทความยังระบุอีกว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคาดว่าภัยคุกคามโรคติดเชื้อที่จะระบาดไปทั่วโลกครั้งต่อไป นอกจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่หรือไวรัสไข้หวัดนกแล้ว อาจเป็นกลุ่มไวรัสเฮนนิปา อันประกอบไปด้วย ไวรัสแลงยา โม่เจียง (Mòjiāng) นิปาห์ (Nipah) และเฮนดรา (Hendra)

สำหรับไวรัสแลงยานั้น เป็นเชื้อโรคไวรัสติดต่อจากสัตว์มาสู่คน พบครั้งแรกในชาวไร่ 35 คนในมณฑลซานตงและเหอหนานของประเทศจีนในปี 2565 ไวรัสแลงยาจัดอยู่ในตระกูล Paramyxoviridaeเช่นเดียวกับ ไวรัสโม่เจียงไวรัสเฮนดราและไวรัสนิปาห์ ที่ผู้ติดเชื้อมีอัตราการตายสูงกว่า 70% เป็นไวรัสที่สายจีโนมเป็น"อาร์เอ็นเอ"เมื่อติดเชื้อจะทำให้เกิดไข้และอาการระบบทางเดินหายใจอักเสบรุนแรง และอาจนำไปสู่โรคปอดบวมถึงแก่ชีวิตได้ เช่นเดียวกับโควิด-19 โดยไวรัสแลงยานั้น พบการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น มนุษย์ สุนัข แพะ

ทั้งนี้ คาดว่าสัตว์รังโรคดั้งเดิมคือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กคล้ายหนู มีปากยาวแหลม(shrews) แต่ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตเนื่องจากไวรัสแลงยา และยังไม่พบว่าไวรัสชนิดนี้แพร่ติดต่อจากคนสู่คน อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนจากนักวิจัยว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไวรัสแลงยาระบาดมาสู่คน ไวรัสตัวนี้ค่อนข้างใหม่สำหรับมนุษย์ ที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกได้ คล้ายกับไวรัสโคโรนาที่ระบาดในมนุษย์ไปทั่วโลก ขณะนี้ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนสำหรับไวรัสกลุ่มนี้ ซึ่งนักวิจัยกำลังหาวิธีพัฒนาวัคซีนและยารับมือไวรัสแลงยานี้อยู่ และองค์การอนามัยโลกให้เฝ้าติดตามการระบาดในวงกว้าง สืบเนื่องจากคำเตือนของนักวิจัยระบุ ไวรัสเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดโรคร้ายแรงที่มีโอกาสควบคุมไม่ได้ หากเราไม่เตรียมพร้อมอย่างเหมาะสม

ส่วนรายงานอาการป่วยของผู้ติดเชื้อไวรัสแลงยานั้น การแพร่เชื้อ สัมผัสกับสัตว์คล้ายหนูขนาดเล็ก มี อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอและอ่อนเพลีย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

กระนั้น เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ สำหรับประชาชนคนไทย ตระหนักแต่ไม่ตระหนก