เสือตัวที่ 6

การต่อสู้ในสมรภูมิพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ใช่ว่าการขับเคลื่อนการต่อสู้ของรัฐ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นประสบแต่ความล้มเหลวเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่าการต่อสู้ของรัฐ กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระดับหนึ่งนี้แหละ จึงส่งผลให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวานของรัฐแห่งนี้ ต้องปรับแนวรบการต้องสู้กับรัฐอย่างมากเพื่อให้การต่อสู้ของขบวนการร้ายแห่งนี้ยังคงศักยภาพในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการปกครองจากรัฐมาเป็นของกลุ่มตนให้จงได้อยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นจนกว่าที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้แม้ว่าจะยังคงความคิดอุดมการณ์การในการแบ่งแยกการปกครองจากรัฐอยู่ต่อไปก็ตาม

จากการที่รัฐสามารถระงับยับยั้งแผนบันได 7 ขั้นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนพื้นที่ปลายด้ามขวานในครั้งก่อนลงได้อย่างสิ้นเชิง โดยแผนบันได 7 ขั้นดังกล่าวนั้นถูกนำมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มคนในขบวนการร้ายแห่งนี้มีสาระสำคัญที่ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะอย่างน่าสนใจกล่าวคือ ขั้นที่ 1 ทำให้ประชาชนมีความตระหนักและรู้สึกสร้างกระบวนการทางการเมืองหรือควบคุมพื้นที่โดยใช้ประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อน การเคลื่อนไหวขั้นที่ 2 มีเป้าหมายสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สังคม แนวร่วมโดยใช้ประชาชนเป็นอาวุธ ขั้นที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อสร้างนักจิตวิทยาที่สามารถตอบโต้ศัตรู ขั้นที่ 4  มีเป้าหมายเพื่อรวมเป็นหนึ่งในการควบคุมพื้นที่เพื่อเข้าสู่การปฏิบัติต่อไป ขั้นที่ 5 มีเป้าหมายสร้างความเป็นหนึ่งของมวลชน ขั้นที่ 6 เป้าหมายให้ประชาชนเตรียมพร้อมในการปฏิบัติเมื่อมีโอกาสใช้ประชาชนเป็นอาวุธเพื่อแสดงให้เห็นการปฏิวัติในทุกหย่อมหญ้า และขั้นที่ 7 มีเป้าหมายคือการต่อสู้ด้วยอาวุธ อันเป็นจุดสุดยอดของการต่อสู้ของประชาชน เพื่อทำให้เห็นว่ามีสงครามประชาชนเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้

แต่ด้วยการต่อสู้ของรัฐที่ได้กำหนดแผนแนวทางตั้งแต่ระดับชาติสู่ระดับพื้นที่ที่ผ่านมานั้นได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลระดับหนึ่ง อาทิ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้  ปี 2555-2557 ของ สมช. ถูกใช้เป็นกรอบทิศทางหลักในการแก้ปัญหาโดย ศอ.บต. ได้จัดทำยุทธศาสตร์ ด้านการพัฒนา และ กอ.รมน. จัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงรองรับในครั้งนั้น ส่งผลให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนทำให้เกิดความสำเร็จในการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ  ที่ดินทำกิน ดูแลส่งเสริมการประกอบอาชีพ เร่งรัดแก้ปัญหายาเสพติด ส่งเสริมการศึกษาและศาสนาของประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศโลกมุสลิมด้านการศึกษาและศาสนา   ใช้กฎหมายให้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนากับภาคประชาชน ติดตามการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างทั่วถึง

แม้ว่าการขับเคลื่อนการต่อสู้ตามแผนงานต่างๆ ดังกล่าวอาจไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์ หากแต่ก็สามารถระงับยับยั้งแผนการของขบวนการร้ายแห่งนี้ไม่ไปถึงฝั่งฝัน นั่นคือการปฏิวัติประชาชนด้วยอาวุธจนสามารถแย่งชิงอำนาจรัฐมาเป็นของกลุ่มตนได้อย่างที่ตั้งใจ  ด้วยการเน้นการพัฒนาและความมั่นคงควบคู่กันไป โดยปฏิบัติทางทหารต่อกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของขบวนการร้ายแห่งนี้ซึ่งใช้กองกำลังติดอาวุธเป็นเครื่องมือกลักในการแย่งยึดอำนาจรัฐตามแผนขั้นที่ 7 ที่มีเป้าหมายการปฏิวัติคือการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่สงครามประชาชน โดยรัฐสามารถระงับยับยั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ให้ไปถึงจุดนั้น ด้วยการใช้กำลังทหารของรัฐเข้าต่อสู้อย่างกลมกลืนกับการพัฒนาของ ศอ.บต. เพื่อการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ โดยรัฐได้บั่นทอนการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐปัตตานี  จำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติการก่อเหตุหรือการขยายแนวคิดและแนวร่วม พร้อมกับเน้นการรักษาชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องประชาชน พร้อมทำความเข้าใจกับนานาประเทศให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ในพื้นที่เพื่อไม่ให้องค์กรระหว่างประเทศถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของขบวนการและแผนงานการดำเนินการแก้ไขและพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2565 – 2568 ที่กำหนดโดย สมช. ฉบับล่าสุด ก็ได้มีการปรับแนวรบตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งสอดรับกับการปรับแนวรบของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ปรับแนวรบจากแผนบันได 7 ขั้นที่มุ่งหมายสุดท้ายคือการปฏิวัติด้วยอาวุธภายใต้การสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระจากองค์กรระหว่างประเทศในเงื่อนไขมีการขัดแย้งด้วยอาวุธอย่างรุนแรงกว้างขวางไปสู่การมุ่งสร้างแนวรบมวลชนผ่านรูปแบบของภาคประชาสังคมที่มีกลุ่ม   เยาวชนนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่แสดงออกด้วยการทำกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมสะท้อนความคิดอัตลักษณ์ของตนเองควบคู่การส่งผ่านประวัติศาสตร์เชิงบาดแผลที่ซ่อนเจตนาความต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐ ควบคู่กับการมุ่งเข้าสู่การมีอำนาจรัฐทั้งในระดับพื้นที่ท้องถิ่นถึงระดับชาติอย่างเป็นระบบ พร้อมกับการมุ่งเอาชนะทางความคิดในทุกเวทีของการเจรจาพูดคุยอย่างแข็งแกร่งเพื่อการยอมรับจากรัฐในการให้อิสรภาพของคนกลุ่มนี้โดยมิอาจยกเหตุผลใดมาโต้งแย้งนักเจรจาของขบวนการร้ายแห่งนี้ในที่สุด

จนกระทั่งล่าสุดปรากฏการณ์ประกาศตัวของขบวนการนักศึกษาปาตานีที่หาญกล้าทำกิจกรรมทดลองการแยกตัวเป็นเอกราชตามกระบวนการของการกำหนดอนาคตของตนเอง (RSD) และแม้ว่าการดำเนินการตามแผนระดับยุทธศาสตร์ของรัฐที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบันจะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามแผนได้ 100% หากแต่ส่งผลให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็จำต้องปรับแนวรบจากการต่อสู้ด้วยอาวุธไปไปสู่แนวรบการต่อสู้ทางความคิดในหลากหลายรูปแบบอย่างเห็นได้ชัด