โศกนาฏกรรมที่มักเกิดขึ้น จากอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่บ่อยครั้ง นำความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนประเมิณค่าไม่ได้ สังคมไทยถอดบทเรียนหลายครั้งหลายครา แต่ยังไม่อาจป้องกันเหตุร้ายได้ ซึ่งแม้จะเกิดต่างกรรมต่างวาระและปัจจัยที่แตกต่างกันก็ตาม 

ล่าสุด กับเหตุการณ์สะพานข้ามแยกอ่อนนุช-ลาดกระบัง ทรุดตัวและพังถล่มลงมาขณะกำลังก่อสร้าง เมื่อเย็นวันที่  10 กรกฎาคม 2566 ส่งผลให้ในเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บหลายราย

ในขณะที่ เมื่อช่วงต้นปี วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์คานทางด่วน หล่นบนถนนพระราม 2 เหตุการณ์ครั่งนั้น มีผู้เสียชีวิต  1 ราย

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบสาเหตุสันนิษฐานว่าเกิดจากตัวโครงสร้างสะพาน (Box Segment] พังลงขณะดึงลวดอัดแรงส่งผลให้ Launching Truss เสียสมดุล และล้มพับทับ โครงสร้างสะพานบริเวณเสาที่ 83 และ 84 เสียหาย 1 ช่วงสะพาน พร้อมปฎิเสธว่ากทม.ไม่ได้เป็นคนสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบในการก่อสร้าง แต่ทางผู้รับเหมาได้แจ้งขอเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้การก่อสร้างเร็วขึ้น จากแบบเดิมการหล่อตัว Box Segment ทำในพื้นที่ แต่ขอเปลี่ยนแบบ Box Segmentแบบสำเร็จ

แต่ยืนยันรูปแบบดังกล่าว เป็นวิธีก่อสร้างที่มีการทำกันอยู่แล้ว มีการควบคุมตามหลักวิศวกรรม ไม่ได้มีความปลอดภัยน้อยลงแต่คาดว่าสาเหตุเกิดจากความผิดพลาดในการก่อสร้าง ส่วนบริษัทที่รับเหมายอมรับเพิ่งรับงานครั้งแรกกับทาง กทม.และประมูตามขั้นตอนและเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 4 แสนบาทและเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งนอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ในกทม.ไม่มีการก่อสร้างแบบในจุดเกิดอื่น มีเพียงการก่อสร้างสะพานทางเดินเชื่อมตรงย่านบางกะปิ

อีกด้านหนึ่งมีความเห็นของ นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเหตุโครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ของกรุงเทพมหานคร มูลค่าเกือบ2 พันล้าน ยาวถึง 3 กิโลเมตร พังถล่มลงมาระหว่างการก่อสร้าง โดยระบุว่า “โครงการทางยกระดับ เขตลาดกระบัง ของ กทม. มูลค่าเกือบ2 พันล้าน ยาวถึง 3 กิโลเมตร ได้ถล่มลงมาในระหว่างการก่อสร้าง เหลือเป็นเศษคอนกรีต ขอเสนอในฐานะที่เป็นวิศวกรด้วยกัน ว่าต้องเริ่มสอบสวนที่ วิศวกร ก่อน สอบจากวิศวกรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน วิศวกรโครงการของผู้รับเหมา และสอบผู้จัดการประมูล ที่ได้มาซึ่งผู้รับเหมารายนี้ด้วย โครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร มูลค่าโครงการ 1,938.3 ล้านบาท เป็นของสำนักงานกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน กทม.) 1,664.5 ล้านบาท และงานของการไฟฟ้านครหลวง 273.75 ล้านบาท สัญญาสิ้นสุดต้องเสร็จภายใน สิงหาคม 2566 นี้

ฝาก วสท ( วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ) ช่วยส่งทีมวิศวกรจากหลายๆฝ่าย ให้ความยุติธรรม และให้เหตุผลทางหลักวิชาการวิศวกรรม เพื่อเป็นบทเรียน ไว้ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากอีกต่อไป ไม่ใช่อุบัติเหตุ แน่นอน ครับ ! และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย”

เราเห็นว่า การบริหารจัดการด้านความเสี่ยงต่างๆในพื้นที่โครงการก่อสร้างต้องมีความเข้มงวด และได้มาตรฐาน เพื่อลดโอกาสที่เกิดความสูญเสีย ที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้รับผิดชอบ เพราะแม้นายต่อตระกูล จะมองว่า จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เรายังหวังว่าทุกฝ่ายจะตื่นรู้และตระหนักถึงความสำคัญ ช่วยกันทำให้อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย อย่าได้มีใครต้องสังเวยชีวิตอีกเลย