สถานการณ์เอลนีโญ กลับมาเป็นประเด็นที่โลก และไทยต้องเตรียมรับมือ ด้วยล่าสุด รายงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุหลักฐานจากดาวเทียม ยืนยันการกลับมาของเอลนีโญ

GISTDA บอกว่าหลังจากที่ภูมิภาคของเราได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญามาแล้ว 3 ปีติดต่อกันคือมีปริมาณฝนตกหนักมากกว่าปกติ แต่ในปีนี้นับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยหลักฐานจากข้อมูลจากดาวเทียม แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ (ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติหรือแล้งนานกว่าปกติ) กำลังจะหวนกลับมาอีกครั้ง 

“ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น”

 สำหรับประเทศไทย หากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผลให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เอลนีโญมีขนาดรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น

แน่นอนว่า เอลนีโญ อาจส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ทำการเกษตร อุตสาหกรรม ซึ่งย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญของไทยจะมีกำลังแรงในช่วงปลายฤดูฝนปี 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูร้อนปี 2567 ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มจะสูงกว่าค่าปกติ ประมาณ 0.5-1 องศาเซลเซียส และส่งผลให้มีอากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกับกับปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเอลนีโญระดับรุนแรง สำหรับปริมาณฝนรวมของประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 10

เอลนีโญน่าจะเป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ ที่จะพิสูจน์ฝีมือในการบริหารที่แท้จริง