ไม่ว่าวันพรุ่งนี้ คือวันที่ 27 กรกฎาคม รัฐสภาจะได้เข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม และโฉมหน้าของว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลจะออกมาสูตรไหน นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะชื่ออะไร

แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องคำนึง ก็คือ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ที่สำคัญโจทย์ของว่าที่รัฐบาลใหม่ ที่นอกจากจะต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และความมั่นคงแล้ว ปัญหาความขัดแย้งที่ชำแรกลึกในสังคมไทย หลังการเลือกตั้งปี 2566 ยิ่งชัดเจนและปริแตกออกไป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในอดีตได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาทางออก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เข้ามาช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ก็ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี ศ.พิเศษคณิต ณ นคร เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน  คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน  เป็นต้น

มาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีความพยายามตั้งคณะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ “กมธ.ปรองดอง” ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้า คมช. ผู้นำคณะรัฐประหารปี 2549 เป็นประธาน โดยมีข้อเสนอของ กมธ.คือ การนิรโทษกรรมการเมือง ซึ่งภายหลังเข้าสภาฯ มีการแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมในวาระ 2 และนำไปสู่การเสนอนิรฑทษกรรมสุดซอย ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของ กปปส.และนำไปสู่จุดจบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในที่สุด

กระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2557 และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในขณะนั้น  ตั้งศูนย์การปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยมี กอ.รมน. และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ และยังมีการตั้งคณะกรรมการคณะอื่นๆ เช่น คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.)

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอต่างๆของคณะกรรมการหลายชุด ที่ตั้งขึ้นมานั้น น่าจะได้นำมาทบทวนกัน และปรับให้เข้ากับยุคสมัย และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนของสังคม ที่เกิดจากปัญหาการเมืองไทย ที่สลับซับซ้อยไม่แพ้กัน