ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

กำเนิดฟ้าเมืองไทย

4. สวมสองบทบาท-ฟ้าเมืองไทยอำลา

หน้าที่บรรณาธิการของอาจินต์ ปัญจพรรค์ นอกจากอ่านต้นฉบับต่าง ๆ ที่ส่งมาให้พิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นในคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่”และเรื่องสั้นของนักเขียนที่มีชื่อเสียงและเริ่มมีชื่อเสียง รวมทั้งอ่านต้นฉบับอื่น ๆ ของนักเขียนประจำและนักเขียนขาจร

เรียกได้ว่าต้องดูแลหนังสือทั้งเล่ม ตั้งแต่หน้าปกจนถึงปกหลัง โดยเฉพาะหนังสือรายสัปดาห์ เป็นงานที่หนักอึ้ง แต่ละวันทำงานจนหัวหมุน ภายในเวลา 7 วัน หน้าที่บรรณาธิการ 800สัปดาห์ อาจทำให้ความเป็นบรรณาธิการฆ่านักเขียนคนหนึ่งที่กว่าจะเกิดได้แสนยากเย็น ทำให้แฟนนักอ่านคนหนึ่งเขียนจดหมายมาจากนราธิวาส ใช้นามแฝงว่า”กอ.” ตำหนิ ด้วยความผิดหวังในตัวเขา...

“ฉันใคร่กล่าวว่า ผิดหวังในตัวเธออย่างแรง เธอลองคิดดูซิว่าชื่อเสียงของเธอที่ได้มาแต่แรกนั้น ได้มาจากไหน...เธอคงจะลืมไปแล้วว่าเธอคือศิลปิน ศิลปินที่มีอุดมคติอันสูงส่ง ศิลปินที่เลือกแสดงในวาระอันควรและเหมาะสม ไม่ใช่ศิลปินที่แสดงพร่ำเพรื่อ ไม่เลือกบทเลือกตอน...เธอพบความสำเร็จจากการรัดเข็มขัดสร้างสำนักพิมพ์โอเลี้ยงห้าแก้ว มันมาพร้อมกับผลงานที่ทำได้ไม่เหมือนคนอื่นที่เคยทำมาก่อน เพราะมันไม่เหมือนใคร ถูกละ มันจึงดัง...”

จดหมายฉบับนี้ตีพิมพ์ในฟ้าเมืองไทย ฉบับที่ 2 เมษายน 2512 อาจินต์ ปัญจพรรค์ เปิดเผยความรู้สึกกับนิตยสารถนนหนังสือ ฉบับที่ 2 สิงหาคม 2517 ว่า...

“เขาว่าผมเหรอ ผมก็บอกกับตัวเองว่า ผมฆ่านักเขียนคนหนึ่ง ทีแรกฆ่าวิศวกรไปคน แล้วมาเป็นนักเขียน แล้วก็มาสร้างบรรณาธิการไว้คน...”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ยอมรับว่า เขามีงานเขียนน้อยลงมาก เพราะแบกภาระหนัก ไม่สามารถใช้สมองเขียนเรื่องสั้นได้เหมือนแต่ก่อน นอกจากเขียนบทบรรณาธิการแล้ว เขามีข้อเขียนเล็ก ๆ โดยเอาเรื่องจริงที่พบเห็นในแต่ละวันหรือในอดีต มาเขียนหล่อเลี้ยงทุกสัปดาห์

 หากคิดในมุมกลับ ถ้าเขาเป็นนักเขียนเต็มตัว วันหนึ่งฝีมือตก ต้องหอบต้นฉบับไปให้เจ้าของสำนักพิมพ์ที่เป็นรุ่นเด็ก แล้วถูกปฏิเสธ มันยิ่งกว่าตอนเขาเป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่เคยถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธมาแล้ว แล้วเขาจะยังชีพได้อย่างไร การเป็นบรรณาธิการ จุดมุ่งหมายก็เพื่อหล่อเลี้ยงชีพเป็นหลัก ดังที่เขาเปิดเผยความในใจว่า...

“ไอ้เราก็อยากเป็นนักเขียน มันสง่ากว่า มีเสรีกว่า ไอ้เป็นบก.น่ะ มีความมั่นคง เป็นศูนย์กลางทมี่นัดพบ เป็นบก.นี่สำหรับให้คนด่า เรื่องไม่ดี ผู้อ่านด่า นักเขียนที่เคยได้ลง ไม่ได้ลงต่อ ด่าแล้ว เรื่องไม่ดี ผู้อ่านด่า....เป็นตำแหน่งสำหรับถูกด่า แต่มันเป็นวิชาชีพอันหนึ่ง วิชาชีพอะไรก็ต้องถูกด่า มันก็มีคำชมเชยและสรรเสริญ”

ในช่วงที่เป็นบรรณาธิการฟ้าเมืองไทย เขาเจียดสมองและเวลาสร้างงานเขียนเท่าที่สามารถทำได้ เพราะงานทั้งสองอย่าง มันเหมือนเป็นคนละชีวิตและคนละจิตวิญญาณ มันทำควบกันไม่ได้

ด้วยไฟฝันอันพร่างโพลงในหัวใจของความเป็นนักเขียน อาจินต์ ปัญจพรรค์เกรงว่าความเป็นบรรณาธิการ จะฆ่านักเขียนคนหนึ่ง ในภายหลังเขานำประสบการณ์ชีวิตที่คลุกคลีอยู่ในวงการโทรทัศน์คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม มาแต่งเป็นนวนิยายเรื่อง “ระบำทีวี”

 เท่าที่สืบค้นได้ มีนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งคือ “ดาววิดีโอ” เมื่อนำไปพิมพ์รวมเล่มในภายหลังโดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2000 เปลี่ยนชื่อเป็น“นางฟ้าตกวิมาน”

ฟ้าเมืองไทยประสบความสำเร็จสูงมาก ต้นฉบับของนักเขียนหลั่งไหลเข้ามามากมายก่ายกอง จนหน้ากระดาษไม่เพียงพอที่จะลงต้นฉบับที่กองค้างอยู่ เดือนเมษายน 2519  อาจินต์ ปัญจพรรค์ ร่วมกับสุพล เตชะธาดา แห่งประพันธ์สาส์นออกหนังสือในเครือ “ฟ้า”เพิ่มอีกเล่มคือ “ฟ้าเมืองทอง” รายเดือน เล่มแรกยอดพิมพ์ 10,000 เล่ม ในเวลาไม่นาน มียอดสูงอยู่พอ ๆ กับฟ้าเมืองไทยคือ 40,000-50,000 เล่ม ติดต่อกันอยู่หลายปี

อีกไม่กี่เดือนต่อมา อาจินต์ ปัญจพรรค์ร่วมกับประพันธ์สาส์นออก “ฟ้านารี” รายเดือน ละเอียด นวลปลั่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ภายหลังชุมพล อุตตรพงษ์ เป็นบรรณาธิการ ทำอยู่ประมาณ 2 ปี ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเลิก

 ปี2520 อาจินต์ ปัญจพรรค์ร่วมกับโรงพิมพ์อักษรไทยออก “ฟ้าอาชีพ” รายเดือน เล็ก โตปานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ปี 2526 เลิกทำฟ้าอาชีพ อีก 2 ปีต่อมาอาจินต์ ปัญจพรรค์ขอวางมือจากการเป็นบรรณาธิการฟ้าเมืองทอง หลังจากนั้นนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ รับหน้าที่บรรณาธิการต่อ

เดือนตุลาคม 2531 ฟ้าเมืองไทยได้ปิดตัวลง ท่ามกลางความอาลัยอาวรณ์ของแฟนหนังสือที่เสียดายหนังสือดี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาอ่านได้ยาก รวมอายุของฟ้าเมืองไทยที่ให้ความสุขแก่คนอ่านเป็นเวลา  19 ปี 5 เดือน

ด้วยความผูกพันของอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่มีกับนักเขียนและนักอ่าน เขาจึงใช้ทุนของตัวเองออกนิตยสาร “ฟ้า” รายเดือน วางจำหน่ายในเดือนมกราคม 2532 โดยมีกำลังสำคัญคือ แน่งน้อย ปัญจพรรค์ ผู้เป็นภรรยา ทำหน้าที่ในดูแลการบริหารจัดการและหาโฆษณาและจิปาถะ ฯลฯ แต่หนังสือก็ต้องปิดตัวลงในเดือนตุลาคม 2534

หลังการปิดตัวลงของหนังสือ“ตระกูลฟ้า”  แต่อาจินต์ ปัญจพรรค์ยังคงอ่านหนังสือและเขียนหนังสือต่อไป เขาเขียนข้อเตือนใจตัวเองไว้ที่ข้างฝาว่า “เลิกจับผิด คิดวรรณกรรม”

หากความเป็นนักเขียนที่มีเสรีภาพที่จะโบยบินไปสู่โลกการประพันธ์ ซึ่งเขาโหยหาตลอดเวลาและได้สั่งสมข้อมูลเรื่องที่จะเขียนไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่หรือเรื่องสะท้อนสังคมและการเมือง เขาได้นำมาเขียนเป็นนวนิยายในภายหลังเมื่อเลิกทำหนังสือฟ้า

เมืองไทยแล้ว ได้แก่ สนิมนา,นางเอกหลังบ้าน ฯลฯ

“หนังสือคือ ตู้กับข้าวใบสุดท้าย ที่บังคับให้ข้าพเจ้าประคองกระเพาะอันอิดโรยไปหามัน  มันบังคับให้ไปหา ไม่ใช่ขอร้องให้ไป มันต้อนข้าพเจ้ามากกว่าต้อนรับ”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)