ต่อจากฉบับที่แล้ว ได้กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยตอนหนึ่ง ได้ระบุถึง 8 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทย โดยได้นำเสนอไปแล้ว 4 ข้อนั้น ยังเหลืออีก 4 ข้อดังนี้      

5. เป็นหนี้นาน มากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ในภาคเกษตรที่ได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลานาน รวมทั้งหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลที่ลูกหนี้มักผ่อนจ่ายขั้นต่ำ (เกือบ 40%) ทำให้หมดหนี้ได้ช้า เช่น ถ้าผ่อนชำระหนี้ส่วนบุคคลขั้นต่ำ 3% จะต้องใช้เวลาถึง 7 ปี จึงจะผ่อนหมด    

 6. เป็นหนี้เสียลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย เกือบครึ่งหรือ 4.5 ล้านบัญชี เพิ่งเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด 19 (คิดเป็นลูกหนี้ 3.1 ล้านคน และมียอดหนี้รวม 4 แสนล้านบาท) แบ่งเป็นบัญชีหนี้เสียที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 70% ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 20% และธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) 10% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล และหนี้ในภาคเกษตร      

7.เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น เกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสียถูกยื่นฟ้อง โดย 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดีที่จบด้วยการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดแล้ว ก็ยังปิดหนี้ไม่ได้ และอาจถูกอายัดทรัพย์เพิ่มเติม ส่วนหนึ่งชี้ว่าลูกหนี้ไม่มีตัวช่วยหาทางออก เข้าไม่ถึงการไกล่เกลี่ยหนี้ ทั้งก่อนฟ้อง หลังฟ้อง และหลังมีคำพิพากษา และในกรณีที่ลูกหนี้ไปต่อไม่ไหว ก็ยังไม่มีช่องทางให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไม่ได้ทำธุรกิจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือล้มละลาย ซึ่งแม้การเป็นบุคคลล้มละลายจะมีข้อจำกัดในการกู้ใหม่ แต่ก็ช่วยให้ลูกหนี้มีทางออกได้      

8. เป็นหนี้นอกระบบ42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือนทั่วประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือแก้หนี้ มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาทจากการที่

1. เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบเพราะมีรายได้ไม่แน่นอน เจ้าหนี้ไม่เห็นข้อมูลรายได้ จึงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และหากจะปล่อย อาจคิดดอกเบี้ยสูง

2. เลือกกู้นอกระบบเอง เพราะสะดวก ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีหลักประกัน แม้ดอกเบี้ยจะแพง และ

3. ใช้/ขอสินเชื่อในระบบเต็มแล้ว จนต้องกู้หนี้นอกระบบไปจ่ายหนี้ในระบบ (https://app.bot.or.th/landscape/household-debt/concept/facts/)  

ฉายภาพที่มาของหนี้สินของคนไทย เพื่อให้เราๆท่านๆ หากไม่มีหนี้ ก็จะได้รู้เท่าทัน และป้องกันไม่ให้เข้าสู่กับดักหนี้ ในขณะเดียวกันหากกำลังเข้าสู่วงจรดังกล่าวจะได้สำรวจตรวจสอบตนเอง ครอบครัว และในชุมชน เพื่อเร่งหาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ที่สำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จะได้ดำเนินการบูรณาการร่วมกันอย่างถูกทิศถูกทาง