สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยผูกพันแน่นแฟ้นอย่างแยกไม่ออกกับพระพุทธศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ในสำนึกของชาวไทยนั้น แตกต่างจากระบบกษัตริย์ในประเทศตะวันตก เรื่องที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่อง “บารมี” และ “ความเป็นธรรมราชา” ในสมัยรัตนโกสินทร์คติเรื่องเทวราชาเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมราชา อำนาจพระมหากษัตริย์จะต้องทรงใช้ตามหลักจริยธรรมในพุทธศาสนา จากที่เคยถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนเทพเจ้า ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นเสมือนที่รวมของกฎหมาย และการปกครองตามหลักจริยธรรมในพระพุทธศาสนาจะเป็นหลักประกันว่าจะไม่ทรงกระทำการใด ๆ ที่ละเมิดกฎหมาย “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหลักปฏิบัติธรรมและทรงเป็นเครื่องหมายแห่งธรรม สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นสัญลักษณ์แห่งธรรมโดยแท้ การเป็นที่รวมของกฎหมายก็เป็นว่าทรงมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ พระราชกำหนดกกหมายและพระราชวินิจฉัยต่าง ๆ เป็นการแสดงออกถึงความศักดิ์สิทธิ์และเป็นธรรมของกฎหมาย สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นผู้ธำรงไว้ซึ่งธรรม สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยจึงมีลักษณะทาง ศาสนาและเกาะเกี่ยวกันอย่างเหนียวแน่น ทั้งสองสถาบันนี้จึงเชื่อมโยงกันโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้... ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เห็นด้วยว่าพลังทางศีลธรรมของพระมหากษัตริย์ไทยนี้มีเสมอกับทางการเมือง พระมหากษัตริย์ไทยมิได้ทรงเป็นเพียงประมุขแห่งรัฐเท่นั้น แต่ทรงเป็นที่เคารพบูชาของคนทั้งปวงในฐานะที่ทรงเป็นผู้พิทักษ์พระศาสนาด้วย หลักการของพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องสำคัญมากในการศึกษาสังคมไทย เพราะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของการกำหนดลักษณะสังคมไทย นอกเหนือไปจากปัจจัยทางด้านพื้นฐานทางเกษตรกรรม คำศัพท์อันเกี่ยวเนื่องด้วยความเชื่อและค่านิยมที่มีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนา คำที่มีความหมายยิ่งคือคำว่า “บารมี” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านได้เน้นการใช้ทั้งคำและความหมายของคำ ๆ นี้มากในบทความที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเคยเขียนในทำนองนี้อยู่บ่อยครั้งว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ในเมืองไทยนั้น เรียกได้ว่าเป็นสถาบันที่มีบุญญาภินิหาร ประกอบด้วยพระบารมีที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลานับพันปี (สยามรัฐ , 23 เม.ย 2533: 9) เป็นต้น คำว่า “บารมี” ในสมัยเก่านั้นใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น ในสมัยใหม่หมายถึงบุคคลสามัญได้ด้วย เพราะหมายถึงคุณความดีที่ได้สั่งสมมาแต่กาลก่อน วิเคราะห์ในแง่ความสัมพันธ์ในสังคมไทย ผู้มีบารมีจึงมีลักษณะเป็นที่พึ่ง นอกจากนี้คำว่าบารมีในสมัยเก่ายังมี ความหมายอย่างหนึ่งว่า คือการสะสมคุณธรรมเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ เป็นคุณธรรมที่บำเพ็ญแล้วน้อมนำไปสู่การเป้นพระมหากษัตริย์ ความคิดเรื่องบารมี ก็มีความสัมพันธ์ต่อเรื่องการรวมกลุ่มของสังคมไทย การยอมรับสถานภาพของบุคคล ตลอดจนเรื่องหน้าที่ต่อสังคม ล้วนมีพื้นฐานที่มาจากความคิดเรื้องการสั่งสมบารมีของแต่ละบุคคลทั้งสิ้น ตรงจุดนี้ทำให้ความคิดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนไทยแตกต่างจากของคนตะวันตกด้วยอย่างหนึ่ง” (“มิติความคิดของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช” โดย ม.ล. วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ หน้า 61)