ทองแถม นาถจำนง
ขุนอุปถัมปืนรากร-โนรา พุ่มเทวา รำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ พระราชวังสวนจิตรลดา วันที่ 20 มี.ค 2514
ขุนอุปถัมปืนรากร-โนรา พุ่มเทวา รำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ พระราชวังสวนจิตรลดา วันที่ 20 มี.ค 2514
วันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2514 ผู้อำนวยการวิทยาลัยครูสงขลา (สมบุญ ศรียาภัย) ได้นำ “โนรา พุ่มเทวา” (ขุนอุปถัมป์นรากร) ไปรำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และคณะโขนธรรมศาสตร์ดู ณ โรงแรมสมิหลา สงขลา ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จะได้เคยพบกับ “โนรา พุ่มเทวา” มาก่อนหรือไม่ ? ข้าพเจ้าไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่การได้ชมครั้งนั้น ท่านคงประทับใจมาก เมื่อ “โนรา พุ่มเทวา” ขึ้นมากรุงเทพ(สมาคมชาวปักษ์ใต้ เชิญขุนอุปถัมป์นรากรมาแสดงในงานดนตรีมหกรรมของกรมศิลปากร) และปรารภว่าอยากรำถวายในหลวง ท่านจึงนำเข้าเฝ้ารำโนราถวาย ณ วังสวนจิตรลดาฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2514 ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าไว้ใน “สยามรัฐหน้า 5” วันที่ 24 มีนาคม 2514 ว่า ............................. “ผมก็เรียกท่านขุนอุปถัมป์นรากรว่าพ่อตั้งแต่นั้นมา สมาคมชาวปักษ์ใต้จัดให้พ่อและคณะได้มาแสดงในงานดนตรีมหกรรมของกรมศิลปากรในคราวนี้ พอมาถึงกรุงเทพ พ่อให้คนพามาหาผมเพื่อเยี่ยมถามทุกข์สุข พอผมถามว่ามากรุงเทพครั้งนี้พ่ออยากได้อะไรบ้าง ผมจะได้หาให้ พ่อแกบอกว่า อายุปูนนี้แล้ว ไม่ต้องการอะไรหรอก ยังเหลืออยู่อย่างเดียวเท่านั้น ผมก็ถามว่าอะไร พ่อบอกว่า เคยรำโนราถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หกมาแล้วหนึ่งครั้ง รัชกาลที่เจ็ดหนึ่งครั้ง ความปรารถนาในขณะนี้จึงมีอยู่อย่างเดียวคือ ใคร่เข้ารำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้อีกสักครั้งเท่านั้น เป็นบุญของพ่อที่ได้สมปรารถนา เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พ่อและคณะเข้ารำโนราถวายทอดพระเนตรบนพระที่นั่งสวนจิตรลดา เมื่อตอนกลางวัน วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ่อและโนราอีกสามคน ซึ่งสองในสามคนนี้เป็นผู้ใหญ่บ้าน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง รำโนราถวายสุดฝีมือ ใช้เวลาประมาณ 40 นาที จบแล้วพ่อก็กราบถวายบังคมทูลว่ายังไม่เหนื่อยเลย จะโปรดเกล้าฯให้รำอีกก็ยังได้ พ่อแกเป็นคนโบราณ จึงพูดจาเพ็ดทูลได้คล่องแคล่ว แต่คนในคณะของพ่อซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญจากท้องที่ห่างไกลนั้น เขาก็พูดจาเพ็ดทูลได้คล่องแคล่วเหมือนกัน ด้วยภาษาพื้นบ้านธรรมดา ไม่ใช้ราชาศัพท์ ด้วยความเคารพที่ออกมาจากใจจริง ไม่ปรากฏว่ามีอะไรมากีดกันระหว่างเจ้าชีวิตกับชาวบ้านเมืองพัทลุง คนที่พูดหรือคิดว่าราชาศัพท์เป็นเครื่องกีดขวางมิให้คนไทยใกล้ชิดกับพระเจ้าอยู่หัวของเขานั้น เป็นคนที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ที่ว่าไม่รู้จักที่สูงนั้นคือ ไม่รู้จักพระเจ้าอยู่หัวเมืองไทยว่าทรงใกล้ชิดกับราษฎรของพระองค์เป็นที่สุด ตั้งแต่รัชกาลไหนมาก็มิได้เคยทรงบังคับให้ราษฎรเพ็ดทูลด้วยราชาศัพท์ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กราบบังคมทูลด้วยถ้อยคำสามัญได้ตลอดมา สำหรับผู้ที่ไม่รู้ หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะรู้ราชาศัพท์ ผมเองเกิดไม่ทันรัชกาลที่ห้า แต่ในรัชกาลที่หกนั้น เคยได้เห็นกับตาว่าราษฎรพายเรือมาเฝ้าริมเรือพระที่นั่ง ที่อำเภอเจ้าเจ็ด และได้ยินกับหูว่าราษฎรใช้สรรพนามเรียกตัวเองว่า “ฉัน” เรียกในหลวงว่า “ท่าน” และใช้คำรับ จ๊ะ จ๋า ตามที่เขาถือว่าสุภาพโดยไม่มีใครไปกีดขวางห้ามปรามเลย ที่ว่าไม่รู้จักที่ต่ำก็คือ ผู้ที่พูดหรือคิดเช่นนั้น รับราชการในตำแหน่งใหญ่โตเหนือหัวราษฎรสามัญจนไม่รู้เสียแล้วว่า ราษฎรไทยเขามีเกียรติของเขาตามธรรมชาติเพียงใด ในฐานะที่เขาเป็นคนไทย มีในหลวงเป็นของเขา เขาจะเข้าเฝ้าและเพ็ดทูลอย่างใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้าอยู่หัวของเขาด้วยเกียรติของคนไทยธรรมดาสามัญ ไม่รู้สึกกระดากกระเดื่องอย่างไรเลย เขาจะสยบหัวให้แก่คนขนาดนายอำเภอเท่านั้น เพราะเขาไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวโดยใช่เรื่อง อย่างไรก็ตาม รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พ่อก็มาหาผมอีก คราวนี้พ่อแกเป็นคนหนุ่มรุ่นเดียวกับผมไปแล้ว ผูกเน็คไทอันเบ้อเร้อสีสดทันสมัย เดินตัวปลิวกว่าผมเป็นกอง ผูกเสมา ภปร. เสียด้วย ที่ว่าโนราไม่มีใครถอดได้นั้นจริง แต่ข้าราชการชั้นพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ใครจะถอดเสียเมื่อไรก็ได้” ………………… ล้อมกรอบ ขุนอุปภัมภ์นรากร (พุ่ม) เกิดวันศุกร์ เดือน 4 ขึ้น 7 ค่ำ เวลา 11 นาฬิกา ปีเถาะ พ.ศ.2434 เป็นบุตร นายเงิน นางชุม ช่วยพูลเงิน เกิด ณ บ้านเกาะม่วง หมู่ที่ 2 ตำบลดอนทราย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เมื่ออายุได้ 7 ปี บิดาก็ถึงแก่กรรม มารดาก็ย้ายมาอยู่บ้านชายคลอง ตำบลชะมวง อำเภอเดียวกัน เมื่ออายุได้ 11 ปี มารดาได้นำไปฝากให้เข้าเรียนในสำนักท่านพระครูกาเดิม (หนู) ณ วัดวิหารเบิก ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง เพื่อศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย อยู่ที่นั่นไม่นาน พระครูกาเดิม (หนู) ไปกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าต้องกลับมาอยู่บ้านเดิม ต่อมาได้มีผู้มาชักนำให้ข้าพเจ้าลงไปทางขับร้อง ฟ้อนรำ ได้อุตส่าห์ฝึกฝนพากเพียรเรียนวิชาการรำโนรา กับนายชุม ที่ตำบลป่าพะยอมอยู่ประมาณ 2 ปี ยังหาความชำนาญไม่ได้ก็ไปเล่าเรียนเพิ่มเติมกับนายลูกโก ซึ่งเป็นโนราอยู่บ้านไม้เสียบ ตำบลท่าประจะ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนวิชานี้อยู่ประมาณ 8 ปี ก็สำเร็จวิชาทางรำโนรา บริบูรณ์ดี ข้าพเจ้าก็กลับมาอยู่บ้านตามเดิม เมื่ออายุได้ 21 ปี ได้เข้าถวายตัวเป็นอันเตวาสิกกับท่านพระครูกาชาติ (แก้ว) ณ วัดพิกุลทอง ศึกษาเล่าเรียนทางฝ่ายพระศาสนา และได้อุปสมบทที่วัดพิกุลทอง โดยมีท่านพระครูกาเดิม (หนู) เป็นอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้พยายามปฏิบัติธรรมในพระศาสนาตามพระวินัยแห่งพุทธบัญญัติตามกำลังของข้าพเจ้าที่จะปฏิบัติได้ ต่อจากนั้นได้ลาออกจากเพศบรรพชิตมาอยู่อาศัยกับนางพลับผู้เป็นพี่ของข้าพเจ้า (พี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน 2 คนคือ พี่พลับกับข้าพเจ้า) นิสัยของข้าพเจ้าชอบปรึกษาหารือกับสมณะชีพราหมณ์อยู่เสมอ ถึงแม้จะลาสิกขาบทแล้วก็จริง แต่ก็ยังถวายตัวเป็นศิษย์ ของท่านพระครูกาชาติ (แก้ว) อยู่นั่นเอง ท่านยังได้อบรมคุณงามความดีชี้ข้อผิดถูกอยู่เสมอมิขาดได้ พระเดชพระคุณของท่านนับว่ามีอุปการะต่อข้าพเจ้ามากที่สุด ข้าพเจ้าจึงระลึกถึงท่านอยู่ทุกเวลา แม้ว่าท่านจะล่วงลับมรณภาพไปสู่สุคติแล้วก็จริง ข้าพเจ้ายังมีความกตัญญูกตเวทีอยู่ทุกเมื่อ เมื่อข้าพเจ้ามีอายุได้ 28 ปี ได้แต่งงานกับนางแหม้ว และได้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน อาชีพของข้าพเจ้าคือ ทำนา ดำเนินการไปตามชอบธรรม อยู่เป็นสุขตลอดมา พ.ศ.2468 ข้าพเจ้าอายุได้ 35 ปี ในระหว่างนั้นกำนันตำบลชะมวง ว่างลง โดยเหตุที่กำนันพุ่ม นาคะวิโรจน์ ลาออก รองอำมาตย์โทขุนเทพภัคดี นายอำเภอควนขนุน จึงเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านทุกนายเพื่อเลือกกำนัน ที่ประชุมลงความเห็นชอบเลือกข้าพเจ้าเป็นกำนันตำบลชะมวง ข้าพเจ้ารับหน้าที่ราชการ ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตธรรม มีพรหมวิหาร 4 เป็นที่ตั้ง เพื่อผดุงไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันที่ข้าพเจ้าเคารพเทิดทูนเป็นที่สุด พ.ศ.2475 เมื่อข้าพเจ้ารับราชการมาได้ 6 ปี ก็ได้รับแต่งตั้งจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็น " ขุนอุปถัมภ์นรากร "