แม้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง แต่ปฏิเสธไม่ดุถึงความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ท่ามกลางคำสบประมาทต่างๆ เอาเข้าจริงนับแต่ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ และนโยบายเปิดประเทศก็ทำให้เครื่องยนต์ท่องเที่ยวไทยขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องให้กลับมาคึกคัก จนธนาคารโลกประเมินว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยได้

กระนั้นที่น่าสนใจและไม่อาจมองข้ามก็คือ การริเริ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ด้วยการผลักดันผลักดันให้มี ร่างกฎหมายอวกาศหรือพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. และผลักดันให้เกิดแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566 – 2580 (National Space Master Plan 2023 – 2037  รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศไทยคือ ฐานสำหรับการส่งและรับยานอวกาศ หรือ spaceport แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา แต่การริเริ่มดังกล่าว ก็ถือเป็นการจุดความหวังใหม่ในอนาคต

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มองว่าไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เป็น 1 ใน 7 ประเทศในโลกที่สามารถสร้าง Spaceport ได้ดีที่สุด

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่ปลายปี2565 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาอีกประมาณ 1-2 ปีเบื้องต้นพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่มีความเหมาะสมถึง 5 คุณสมบัติ ได้แก่

1.การอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผลต่อการนำส่งอวกาศยานที่จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของพลังงาน

2.มีทะเลขนาบ 2 ฝั่งซ้าย-ขวา มีมุมปล่อยอวกาศยานได้หลากหลายแบบ

3.มีแนวชายฝั่งที่เป็นคาบสมุทร สามารถกำหนดจุดหรือ Drop Zone ที่ไม่กระทบกับพื้นที่บนฝั่ง และยังสามารถออกเก็บกู้วัตถุที่ตกลงมาได้ง่าย

 4.มีระบบโลจิสติกส์ที่เข้าถึงง่าย หลายหลาย มีระบบท่าเรือน้ำลึกและท่าอากาศยาน

 5.ไม่มีภัยพิบัติรุนแรง

เราเห็นว่า เมื่อไทยมีความพร้อมและมีแนวโน้มที่จะเป็นจริงได้ การลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน หรือเพ้อเจ้ออีกต่อไป เป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะได้เข้ามาบริหารประเทศไทยเมื่อไหร่นั้น ต้องรับเอาไปเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นจริง บนพื้นฐานความรอบคอบคอบ รอบด้าน เพื่อความเจริญด้านเทคโนโลยีอวกาศ  และเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เหนือสิ่งอื่นใด คือความมั่นคงและปลอดภัยของชุมชน และสิ่งแวดล้อม  ที่ต้องการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐาน  ที่สำคัญคือ ต้องโนคอร์รัปชั่น