สถาพร ศรีสัจจัง  ไม่รู้วินาทีนี้ “นายกฯลุงตู่” ของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง นอนหลับสนิทดีหรือเปล่า? หูอื้อไปกับบรรดา “เสียงกระแทก” ที่เจตนาก่อขบวนเข้ามา “กระทบ” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และหนักขึ้นๆตามกระแส “ประชามติ” เรื่องรัฐธรรมนูญหรือเปล่า? กระทั่งมา “พี้" แบบสุดๆเมื่อกระแสโลกเป็นใจ นั่นคือการเกิดกรณีรัฐประหารล้มเหลวที่ประเทศตุรกี! ประเทศตุรกีที่เป็นต้นแบบการ “ยึดอำนาจรัฐ” โดย “กลุ่มทหารหนุ่ม” ที่เรียกกันว่า “ยังเติร์ก” นั่นไง!! “ยังเติร์ก” เป็นคำที่อาจถือเป็นต้นแบบอันทรงเกียรติภูมิที่ส่งผลให้บรรดาเหล่าทหารหนุ่มทั่วโลกและคนทั่วโลกรู้จักชื่อ'ตุรกี'เพิ่มมากขึ้นอย่างกว้างขวาง  “ยังเติร์ก” ที่เป็นกลุ่มทหารหนุ่มตุรกียุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายใต้การนำของนายทหารหนุ่มนาม “มุสตาฟา เคมาล ปาชา” ที่ภายหลังได้รับการขานฉายาเป็น “อตาเติร์ก” ผู้ยิ่งใหญ่ หลังจากก่อการ “ลุกขึ้นสู้” ยึดอำนาจรัฐจากระบบสุลต่านอันฟ่อนเฟะของสุลต่านชื่ออับดุล ฮามิด แห่งอาณาจักรออตโตมันผู้อ่อนแอจนทำให้พ่ายแพ้แก่อังกฤษ หลังการยึดอำนาจ มุสตาฟา เคมาล ปาชา “อตาเติร์ก” เปลี่ยนระบบการปกครองประเทศตุรกีเข้าสู่ยุคใหม่เป็นระบบสาธารณรัฐ โดยตนเองได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่เก่าแก่ยิ่งใหญ่บนที่ราบอนาโตเลียอันยิ่งใหญ่แห่งนั้น แผ่นดินที่ราบินาโตเลียอันยิ่งใหญ่เพราะเป็นจุดเชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชียหรือ “ตะวันออก-ตะวันตก” จนปลายเป็นจุดปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมาแต่ยุคโบราณจวบกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน            เป็นแผ่นดินโบราณอีกแห่งหนึ่งที่สั่งสม “ทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม” ไว้ให้ผู้คนในชั้นหลัง(อย่างยุคทุนนิยมในปัจจุบัน)ได้ใช้ขายกินในนาม “วัฒนธรรมการท่องเที่ยว” ตั้งแต่ตำนานเรื่องเมือง “ทรอย” ในมหากาพย์ “อีเลียดและโอดิซี” ของมหากวีโฮเมอร์ จนถึงเรื่องราวอีกมากมายของสถาปัตยกรรมแขกมัวร์อันยิ่งใหญ่งดงามทั้งวังสุลต่านและบรรดาสุเหร่ามัสยิดที่มีความเป็นมายิ่งใหญ่มากมายแห่งเมือง “กรุงคอนสแตนติโนเปิล” ในอดีตหรืออิสตันบูลในปัจจุบัน แล้วก็เดินทางมาถึงเรื่องการรัฐประหารที่ล้มเหลวในวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 ของประเทศนี้ ที่น่าจะถือเป็นเรื่องที่ “ฮ้อตสุด”ของสถานการณ์ทางการเมืองโลกในขณะนี้! ที่ว่า “ฮ้อตสุด” ก็เพราะเอตทัคคะทางการเมืองโลกแทบทุกสำนักเห็นว่าการรัฐประหารในตุรกีครั้งนี้จะก่อผลทั้งทางตรงทางอ้อม ทั้งระยะใกล้ระยะไกลหลายประการต่อวงการเมืองโลกโดยเฉพาะต่อปัญหาในตะวันออกลาง โดยเฉพาะเมื่อฟังๆว่าเรื่องนี้ “ท่านประธานาธิบดีผู้ชนะ” เรจิ้ป ไคยิบ แฮร์ดวน แห่งตุรกีจะกล่าวหามหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในทำนองว่ามีส่วนอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารด้วยก็ยิ่งทำให้น่าสนใจ เพราะที่จริงสองชาตินี้เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กันแท้ๆ ตอนนี้ ฐานทัพอากาศและทหาร 1,500 นายของสหรัฐฯที่ใช้ถล่มกลุ่ม “ไอเอส” ในซีเรียและอิรักก็ยังตั้งตระหง่านอยู่ในตุรกี! ว่าโดยหลักการดั้งเดิมของสหประชาชาติแล้ว ปัญหาการรัฐประหารครั้งนี้เป็นเรื่อง “ภายใน” ของประเทศตุรกีแท้ๆ เป็น “สิทธิอัตตวินิจฉัย” ของคนตุรกี ว่าจะ “เอากันอย่างไร” เหมือนปัญหาคนผิวดำที่กำลังลุกขึ้นประท้วงอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คนอาฟกานิสถานที่ลุกขึ้นสู้กับผู้รุกราน(มาตั้งแต่รัสเซียในอดีตจนถึงสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในปัจจุบัน?) หรือแม้แต่กรณีประเทศไทย(ทั้งในอดีตและปัจจุบัน)ฯลฯ ปัญหาก็คือสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิอัตวินิจฉัยประชาชาติ” ที่บรรดานัก “ประชาธิปไตยแบบตะวันต” กล่าวเป็นหลักการไว้ใน ตำราแน่นหนักนักนั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า? ได้รับการปฏิบัติจริงจากมหาอำนาจทุนนิยมหรือเปล่า? (ต้องใช้คำนี้เพราะอย่างเช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาก็เรียกระบบการปกครองเขาว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เช่นกัน! เป็นต้น) เพราะถ้าสิ่งนี้มีอยู่จริง เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศอาหรับในตะวันออกกลางอาจไม่ต้องตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด สิทธิความเป็นมนุษย์ถูกบดขยี้ เด็กๆ และผู้หญิงจำนวนมากต้องเหมือนตกอยู่ในนรกอเวจี อย่างที่เห็นๆกันอยู่จริงในตอนนี้ฯลฯ แล้วใครกันเล่าที่ละเมิด ที่ปากว่าตาขยิบ ที่มุ่งหวังเพียงผลประโยชน์ตน กลุ่มตน หรือประเทศตน จนทำได้แม้กระทั่งทำตัวเป็น “นักปล้น” บุกเข้าไปสังหารผู้นำประเทศอื่น ตั้งข้อกล่าวหาประเทศอื่นอย่างไม่มีมูล ผู้นำประเทศหลายประเทศหลายคนทั้ง “ดัง” และไม่ดังถูกใครฆ่า? ตัวอย่างดังๆก็เช่นตั้งแต่ นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เช กูวารา จนถึง ผู้นำชาติอาหรับอย่างซัตดัม ฮุสเซ็น และ โมฮัมมาร์ กัดดาฟี ที่เห็นอยู่โต้งๆนั่นไง! แน่นอนว่า ปัญหาความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการรัฐประหารในประเทศตุรกีที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ศกนี้นั้น จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่ใครต่อใครในโลกยุคใหม่ ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลจนถึงระดับประเทศหรือระดับกลุ่มประเทศ จะนำไปขยายและสร้างกระแสตามผลประโยชน์ที่ตนเชื่อว่าจะได้รับอย่างแน่นอน ส่วนการ “โหนกระแสตุรกี” หนนี้จะบรรลุผลตาม “เจตนาแฝง” ของใครต่อใครหรือไม่อย่างไรนั้น คงจะต้องเฝ้าดูกันต่อไป แต่ถ้าใครที่เป็น “ศิษย์เก่า” สำนัก “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” ขอโปรดอย่าได้ลืมเป็นอันขาดว่า สิ่งใดๆก็ตาม ปัญหาใดๆก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความขัดแย้งภายในหรือ “อัตตวิสัย” เป็นตัวขี้ขาด! และแน่นอนว่า “กฎ” ข้อนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเจตนารมย์ของใครผู้ยิ่งใหญ่คนใดแม้ในท้ายที่สุด!!!!