กลายเป็นประเด็นร้อนที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยและมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีการกำหนดว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”  ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวหารัฐบาลรักษาการได้ลักไก่ กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เสียใหม่โดยแต่เดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้า ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ 600-1,000 บาทต่อเดือน (อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน 70-79 ปี ได้ 700 80-89 ได้ 800 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000) แต่ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 66 เป็นต้นไป ตามข้อที่ 6 (4) ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เท่านั้นถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เรื่องนี้มีการชี้แจงโดย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะต้องมีการออกระเบียบกำหนดรายละเอียดจากนี้อีก โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม แก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ ห้าหมื่นล้านต่อปี เพิ่มเป็นแปดหมื่นล้าน และแตะเก้าหมื่นล้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2567

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง คือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่ เพราะไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น

 ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย  กล่าวว่า  กระทรวงมหาดไทยต้องออกระเบียบเพื่อให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจ่ายเงินให้กับ ผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ระเบียบได้ แต่จะจ่ายได้ต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นคนกำหนด เมื่อกำหนดแล้ว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายได้ ซึ่ง มท.ต้องไปออกระเบียบให้ตรง ให้สอดคล้องกับที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด ในขณะนี้ต้องออกระเบียบให้จ่ายได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ต่างๆ จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด

อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจแนวทางการเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมการในทุกมิติ แต่การริเริ่มเปิดช่องไว้ ในประเด็นที่ละเอียดอ่อน  สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องติดตามรายละเอียดของระเบียบต่อไป ว่าจะมีวิธีการหรือเกณฑ์ใดในการคัดกรองผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ที่รัฐมีหน้าที่ดูแลสวัสดิการประชาชน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

อีกทั้ง กระแสที่เกิดขึ้น อาจเป็นโอกาสในการที่กระทรวงการคลัง จะปัดฝุ่นมาตรการชักชวนให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงสละสิทธิรับเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้ กลับมาปรับปรุงในเชิงรุกมากขึ้น ก็จะเป็นอีกแนวทางในการส่งเสริมการใช้งบประมาณที่ได้ประโยชน์สูงสุด