ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

ดอกผลของงานเขียน

2. ดอกผลจากความรักในเสียงเพลง

สมัยนั้นเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน สังคมนักเขียนกว้างมาก เพราะทั้งนักเขียน นักกลอน นักหนังสือพิมพ์และนักแต่งเพลงต่างก็มีความพันธ์กัน ส่วนจะเหนียวแน่นแค่ไหน ย่อมขึ้นกับตัวบุคคล นักเขียนและนักกลอนได้รับการชักชวนให้ไปแต่งเพลงหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ทวีสุข ทองถาวร

 แม้กระทั่งสุรพล โทณะวนิก นักแต่งเพลงชื่อดัง นับพันเพลง ผู้แต่งเพลง ยามรัก รอ  ใครหนอ ฟ้ามิอาจกั้น ในโลกแห่งความฝัน ฯลฯ ก็เขียนเรื่องสั้นมาก่อนในเพลินจิตต์,ชาวกรุง ฯลฯ มีผลงานรวมเรื่องสั้นได้แก่ เรื่องสั้นประจำส้วม,หอมผู้หญิง,ถลกชีวิต ฯลฯ

สำหรับอาจินต์ ปัญจพรรค์ก็ได้รับการชักชวนเช่นเดียวกับคนอื่น แม้จะไม่ได้รับการชักชวนหรือคลุกคลีโดยตรง ในช่วงที่ทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม หลังจากกลับมาจากดูงานวิทยุและโทรทัศน์ที่สหรัฐอเมริกา  เขาก็ได้รับการชักชวนจากนักแต่งเพลงรุ่นครู

เล่ากันว่าหลังจากเขากลับจากไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา เขาเสนอรายการใหม่ ๆ ต่อ จำนง รังสิกุล(ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายจัดรายการสถานีไทยโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรม) แต่จำนง รังสิกุล เคยพบเห็นมาก่อน ครั้งที่เป็นผู้ประกาศข่าวภาคภาษาไทยที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์ บีบีซี ประเทศอังกฤษ 3 ปี จึงรู้สึกเฉย ๆ

อาจินต์ ปัญจพรรค์จึงมีความน้อยเนื้อต่ำใจตามประสาคนวัยหนุ่ม ไม่ไปทำงานเป็นเวลา 7 วัน หลบไปนอนที่บ้านของชอุ่ม ปัญจพรรค์ ผู้เป็นพี่สาว  คนที่ทำงานอยู่ช่อง 4 บางขุนพรหม ที่สนิทสนมกันต่างก็พากันไปเยี่ยมด้วยความเป็นห่วง

คณะที่ไปเยี่ยมมีครูแจ๋ว-สง่า อารัมภีร นักแต่งเพลงรุ่นครู ผู้แต่งเพลงดังมากมายได้แก่ เรือนแพ น้ำตาแสงใต้ ดวงใจ หนี้รัก  เป็นอาทิและคุณชายถนัดศรี หรือม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ นักร้องมีชื่อเสียงในยุคนั้นและนักชิม-นักทำอาหาร เพลงดังระดับตำนานได้แก่ ยามรัก หวงรัก สีชัง วนาสวาท เป็นอาทิ

ครูแจ๋วอยากให้อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้ผ่อนคลายจิตใจ จึงชวนไปแต่งเพลง คุณชายถนัดศรีพูดขึ้นว่า ยังจำทำนองเพลงพื้นบ้านอีสานได้ 2-3 เพลง ส่วนอาจินต์ ปัญจพรรค์จำทำนองเพลงพื้นบ้านเมืองเหนือได้เพลงหนึ่ง เป็นผู้แต่งคำร้องขึ้นใหม่ ครูแจ๋วปรับแต่งทำนอง ส่วนคุณชายถนัดศรีเป็นผู้ขับร้อง

เพลงที่แต่งชุดนี้มี 4 เพลงคือ ขุ่นลำโขง สาวตางาม เว้าสาวอีสาน แล้งในอก ครูแจ๋วเป็นคนหาวงดนตรีให้ โดยได้ผู้ควบคุมวงดนตรีและเล่นเปียโนคือ เรืออากาศโทปรีชา เมตไตรย์ นักดนตรีคนอื่น ๆ ประกอบด้วย ครูแจ๋ว เล่นแอคคอร์เดียน มาโนช  ศิริวิภา-กีต้าร์ วิเชียร ภู่โชติ-กลองโทน บันทึกเสียงที่บริษัทกมลสุโกศล ซึ่งในเวลานั้นครูแจ๋วทำงานอยู่ที่นี่

เพลงชุดนี้ใช้เวลาบันทึกเสียง 2-3 เที่ยวก็เสร็จสมบูรณ์ ครูแจ๋วเอาเงินค่าแต่งเพลง ๆ ละ 150 ให้กับอาจินต์ ปัญจพรรค์ ส่วนค่าร้องเพลง ๆ ละ 300 บาท ในเวลาต่อมา มีการบันทึกเสียงซ้ำอีกครั้ง ครูแจ๋วก็เอาเงินมาให้อีก แสดงให้เห็นถึงมิตรจิตมิตรใจที่มีต่อกันของวงการเพลง ซึ่งในสมัยนั้นวงการเพลงเฟื่องฟูมาก นักร้อง นักแต่งเพลงต่างก็มีรายได้ดี

เพลง “ขุ่นลำโขง” นอกจากม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ขับร้องเป็นคนแรกแล้ว ในเวลาต่อมามีนักร้องนำไปร้องอีกหลายคนคือ วงจันทร์ ไพโรจน์,ธานินทร์ อินทรเทพ,หยาด นภาลัย,กาญจนา มาศิริ ขอยกเนื้อร้องมาพอเป็นตัวอย่าง...

“โขงไหลแรงขุ่นสีแดงสองฝั่งฟ้า

เหมือนตาพี่ให้เหมือนใจพี่รอ

โอ้ละหนอนวลเอย

สองข้างตลิ่งห่างเสียจริงเจียวหนอ

คิดไปใจพี่ท้อพี่นี้รอเดียวแด

โอ้หนอแม่คุณเอย...”

เพลง“สาวตางาม” เป็นเพลงที่ครูแจ๋วดัดแปลงมาจากเพลงพื้นเมืองอีสาน ทำนอง เต้ยพม่ารำขวาน เพลงนี้คุ้นหูกันดีสำหรับคนฟังรุ่นเก่าและชาวบ้าน เพราะสถานีวิทยุเปิดเพลงนี้บ่อยจนติดหู ทำให้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ภายหลังวง ISN’T ของอัสนี-วสันต์ นำมาบันทึกเสียงใหม่เป็นคนแรกเมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อนในสไตล์โฟล์คซอง เป็นอัลบั้มเพลงโฟล์คซองทั้งชุด ต่อมาธานินทร์ อินทรเทพและแจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ นำมาขับร้องใหม่ เพลงนี้แค่ขึ้นต้นวรรคแรก นักฟังเพลงต้องร้อง “อ๋อ”...

“รักน้องมานานโอ้แม่ตาหวานฉ่ำชื้น

กลางวันกลางคืนมีแต่เศร้าโศกา          

ยามจากกานดายากนักยากหนาจะได้เจอ

เฝ้าคิดถึงเธอพร่ำเพ้ออาวรณ์...”

เพลง “เว้าสาวอีสาน” มีเนื้อร้องที่เป็นสำเนียงแบบอีสานด้วยจังหวะสนุกสนาน นำมาขับร้องใหม่เมื่อไม่กี่ปีโดยหยาด นภาลัย เนื้อร้องมีว่า...

“โอ้สะละวาเด๊อสาว สวยดีสิว่าจั่งน้อง

ขาวดีสิว่าจั่งเจ้า ผู้ฮ้ายสาละวายจั่งอ้าย

สังบ่ไปเกิดกรรม อยู่เมืองค่ำเมืองใหญ่

สันดอกหนานางนา หางตาผู้งามเอย...”

ส่วนเพลงที่ 4 เพลง “แล้งในอก” ครูแจ๋วดัดแปลงทำนองมาจากเพลงพื้นบ้านภาคเหนือชื่อ “ลาวคลึง” อาจินต์ ปัญจพพรรค์จดจำทำนองเพลงนี้ที่เคยได้ยินตั้งแต่สมัยยังเด็ก เป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกคึกครื้น เพลงนี้จึงติดหูคนฟังอีกเพลงหนึ่ง ต่อมา นำมาขับร้องใหม่โดยธานินทร์ อินทรเทพ และ หยาด นภาลัย...

“ไปเถิดหนาแม่ไป ไปเที่ยวตามใจของเจ้า

พี่นี้จะคอยเป็นเงา จะเที่ยวคอยเฝ้าคอยมอง

เห็นหญ้าเขียว ๆ พี่เดินลดเลี้ยวตามน้อง

ตามเที่ยวมองแม่นาง โอ้ละเหนอ...”

หลังจากนั้นอาจินต์ ปัญจพรรค์ก็ได้แต่งเพลงอีกหลายต่อหลายเพลงในช่วงที่ทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม วันหนึ่ง ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงสุนทราภรณ์มาที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เพื่อคุยธุระกับจำนง รังสิกุล บอสแห่งช่อง 4 อาจินต์ ปัญจพรรค์ยื่นกระดาษแต่งกลอนให้ครูเอื้อ 

เป็นบทกลอนที่อาจินต์ ปัญจพรรค์แต่งขึ้น เนื้อหากล่าวถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่เตือนหญิงสาวคนอื่น ๆ ไม่ให้เข้ามากรุงเทพฯ จะได้ไม่โดนหลอกเหมือนเธอ

ดังที่ทราบมาก่อนว่าอาจินต์ ปัญจพรรค์มีความสามารถในการแต่งร้อยกรองด้วยคือ กลอนสุภาพหรือกลอนแปด หากการแต่งเพลงเป็นเพียงงานอดิเรกของเขา เพราะอาชีพหลักของเขาคือ การเขียนหนังสือ ดังที่เขากล่าวไว้...

“งานเขียนหนังสือเป็นอาชีพ เป็นลมหายใจ แต่งานแต่งเพลงเป็นงานอดิเรก เป็นความสุข”           

อาจินต์ ปัญจพรรค์ยื่นกระดาษแต่งกลอนให้ครูเอื้อ โดยไม่ได้หวังผล หากบทกลอนชิ้นนี้กลับกลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

“ผลงานของนักเขียนเดินทางอย่างกล้าหาญผ่านการตรวจสู่สาธารณชน ผลงานที่ดีเดินทางด้วยตัวของมันเสองอย่างสง่า ผ่านการจราจรไปด้วยคุณภาพ ไปจุดประกายแห่งความบันเทิงเริงรมย์ และปัญญาให้แก่ผู้อ่านนับแสนนับล้าน”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)