ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

ดอกผลของงานเขียน

4. ดอกผลจากความรักในเสียงเพลง(ต่อ)

สัปดาห์ต่อมา ครูเอื้อโทรหาอาจินต์ ปัญจพรรค์บอกว่า ได้ใส่ทำนองเพลงแล้ว จะให้อ้อย อัจฉรา เป็นคนร้องบันทึกเสียง ปรากฏว่าเพลง “สวัสดีบางกอก” จากสียงร้องของอ้อย อัจฉราที่ร้อง ขึ้นต้นว่า “อย่าไปเลยบางกอกจะบอกให้” ดังไปทั่วประเทศตามสถานีวิทยุต่าง ๆ ด้วยสำเนียงอ้อนหวาน ทำให้เพลงนี้โด่งดังจนติดหูคนฟัง ขอยกเนื้อร้องมาพอเป็นตัวอย่าง...

“อย่าไปเลยบางกอกจะบอกให้

พี่เคยไปมาแล้วน้องแก้วเอ๋ย

จะบอกเจ้าเอาบุญคนคุ้นเคย

อย่าไปเลยบางกอกชอกช้ำใจ....

คนที่นั่นคั้นแต่ตัวหัวกะทิ

หัวใจสิแสนบ้าใบหน้าใส

สวมหน้ากากปากซื่อเขามือไว

คอยจงใจทำร้ายทำลายเรา...”

เพลง “สวัสดีบางกอก”ถือว่าเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมที่สุดของอาจินต์ ปัญจพรรค์ จนกระทั่งมีนักร้องนำไปร้องหลายเวอร์ชั่นได้แก่ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ ทิพวรรณ ปิ่นภิบาล เท่ห์-อุเทน พรหมินทร์ นันทิดา แก้วบัวสาย เป็น อาทิ ในเวลาต่อมา อาจินต์ ปัญจพรรค์ได้แต่งเพลงแก้ให้ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ขับร้อง ชื่อเพลง “อย่าเกลียดบางกอก”...

“แม่คุณเอ๋ยบางกอกหรือหลอกเจ้า

ส่วนที่เขาคนดีก็มีถม

เจ้าไปคุ้นคนพาลมารสังคม

ไม่อบรมในหมู่ของผู้ดี

หลงทางผิดคิดประณามหยามทั่วเมือง

ค้นเอาเรื่องแสนบ้ามาเสียดสี

ร้องบางกอกหลอกพล่าผลาญนารี

เผยวิธีทำร้ายทำลายคน...”

แม้ว่าเพลง“อย่าเกลียดบางกอก” จะไม่เป็นที่นิยมเท่ากับเพลง “สวัสดีบางกอก” แต่เพลงแก้เพลงนี้ก็มีนักร้องรุ่นหลังนำมาร้องกันได้แก่ ธานินทร์ อินทรเทพ อังศณา ช้างเศวต วัชระ ปานเอี่ยม ฯลฯ

เพลงที่ถือว่าเป็นเพลงที่มีความหมายดีเพลงหนึ่งคือ เพลง “ปริญญาชาวนา” แต่งให้นักร้องชื่อดังหอมฟึ้งในยุคนั้นที่ให้ความเคารพนับถือ อาจินต์ ปัญจพรรค์มาก นั่นก็คือ ธานินทร์ อินทรเทพ  โดยธานินทร์  อินทรเทพกล่าวถึงนักเขียนผู้เขียนเรื่องชุด เหมืองแร่ว่า...

“พี่อาจินต์รักผม พี่อาจินต์จึงแต่งเพลง “ปริญญาชาวนา” ให้ผม เพราะผมร้องเพลงชัด ผมร้องชัดเพราะผมได้ภาษาไทยจากพี่อาจินต์”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ไม่ได้แต่งเพลง “ปริญญาชาวนา”ให้ธานินทร์  อินทรเทพ เพลงเดียว แต่แต่งให้ถึง  9 เพลงได้แก่ ปริญญาชาวนา ผู้ชนะคือควาย แผ่นดินหอม แม่โพสพสังสรรค์ เทพธิดานุ่งผ้าซิ่น เป็นอาทิ

ในด้านทำนองเพลงเป็นฝีมือของครูแจ๋ว-สง่า อารัมภีร จำนวน 8 เพลง ส่วนเพลงที่ 9 “ชมนางนา” อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นผู้ใส่ทำนอง ขอยกตัวอย่าง เพลง “ปริญญาชาวนา” มาสัก 2 ท่อน...

“จบโรงเรียนประชาบาลฉันไม่ได้เรียนต่อ           

ต้องช่วยพ่อทำนา

กราบคุณครูขอลา

ทั้งวิชาก.ไก่ ออกไปใช้ก.เกวียน

ไม่ไถใครจะทำ

หว่านดำต้องเริ่มเรียน

เก็บสมุดวาดเขียน

ไปหัดเรียนวาดโคลน...”

สำหรับเพลง “โอ้บางกอก” เป็นเพลงที่อาจินต์ ปัญจพรรค์แต่งประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เสน่ห์บางกอก” ที่เขาเป็นผู้ประพันธ์เป็นบทละครวิทยุครั้งที่ยังไม่มีชื่อเสียง โดยพร ภิรมย์ เป็นผู้แต่งทำนอง ออกฉายเมื่อปี 2509  กำกับการแสดงโดยวิจิตร คุณาวุฒิ นำแสดงโดย ภาวนา ชนะจิต,พร ภิรมย์,พยงค์ มุกดา.เพชร พนมรุ้ง,ชัยชนะ บุญนะโชติ และดารา-นักร้องอีกมากมาย

ภาพยนตร์เรื่อง“เสน่ห์บางกอก” ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองและได้รับความนิยมมาก จนกระทั่งได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งเมื่อปี 2524 รวมทั้งสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 7 สีด้วย เพลง “โอ้บางกอก” ขับร้องโดย พร ภิรมย์ เป็นเพลงที่มีจังหวะสนุกสนาน บรรยายสภาพเมืองกรุงในสมัยนั้น ซึ่งสภาพต่าง ๆ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื้อเพลงมีว่า...

“โอ้ โอ๋ บางกอก เมืองออกโก้  ตึกโต ๆ ตั้งเตะตา

ตลาดคนตลาดค้า สนามม้าสนามมวย

วัด เวียง วัง คับคั่งคน ขี่รถยนต์คนร่ำรวย

ถ้าแม้ไร้ทรัพย์ก็ต้องรับความซวย  ป่วยเจ็บใจในเมืองกรุง

คนนับล้านเดินพล่านหลายพวก

บางคนสะดวกบางคนสะดุ้ง บางคนล้มพับบ้างกลับล้นพุง

บ้างนอนตากยุง บ้างอยู่ห้องเย็น...”

เพลงที่ดังระเบิดทั่วบ้านทั่วเมือง  สถานีวิทยุเปิดบ่อยมาก จนคุ้นหู ยุคนั้นยังไม่มีเพลงแบบนี้  จึงถือว่าเป็นความคิดแปลกใหม่ เพลงที่กล่าวถึงก็คือเพลง “จดหมายรักจากเมียเช่า” ส่งให้นักร้องคนนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปด้วย นั่นก็คือ มานี มณีวรรณ คนรุ่นอายุ 50 ขึ้นไป ถ้าเป็นนักฟังเพลง จะรู้จักนักร้องคนนี้ เนื้อเพลงผสมผสานคำในภาษาไทยกับคำในภาษาอังกฤษที่เป็นคำศัพท์ง่าย ๆ เพลงนี้ขอยกเนื้อเพลงมาทั้งหมด เพื่อประกอบคำอธิบายต่อไป...

“ไอเขียนแล็ตเต้อร์ถึงเธอเดียร์จอห์น

เขียนในแฟลตที่ยูเคยนอนจังหวัดอุดรประเทศไทยแลนด์

ไอโบร๊กเก้นฮาร์ด ยูมัสต์อันเด้อร์สแตนด์

จอห์นจ๋าจอห์นดอลลาร์ขาดแคลน

เมียเซ็กกั้นแฮนด์ของยูยังคอย

ยูทิ้งเมียเช่าทิ้งกระเป่าโกโฮม

ทิ้งรอยจูบเคยลูบโลม จนเชปไอโทรมเพราะยูเอ็นจอย

ยูทิ้งไอไว้ ยูไปอิลลินอยส์

ไอเสียใจจนเป็นไทฟอยด์

เอาไทเกอร์ออยมาทากันอาย

 

*โศกเศร้ากว่าแซ้ดมูฟวี่

โอจอห์นยูเมคมีคราย

เฝ้าโศกเศร้าเสียจนผอมผ่าย

อยากตายวายยูทิ้งมี

รอยน้ำตาหยดรดลงบนลายเซ็น

หาซองใส่จ่าหน้าไม่เป็น เวรเอ๋ยเวรยูเฮลป์มี

ฉีกทิ้งเล็ตเต้อร์ หันไปเจอดีดีที

กู๊ดบายสวัสดี โกมีตกับมีที่เมืองดิเอ็นด์

เพลง “จดหมายรักจากเมียเช่า”ไม่ได้เอาทำนองเพลง Sad Movies (make me cry) ของ Sue Thomson มาทั้งดุ้น เหมือนที่บางคนเข้าใจ เอามาเพียงน้อยนิดมากคือ เอาเฉพาะ 2 วรรคแรกของท่อนแยกหรือที่เรียกว่า ท่อนฮุ้ค(hook) ที่ร้องว่า

“โศกเศร้ากว่าแซ้ดมูฟวี่

โอจอห์นยูเมคมีคราย”

นอกนั้นอาจินต์ ปัญจพรรค์สร้างสรรค์ทำนองขึ้นเอง ถือว่าเขาเป็นคนที่มีความรู้ในเรื่องเพลงพอสมควรและเพลงนี้ผสมผลานคำในสองภาษาให้เป็นเนื้อเพลงที่มีไพเราะด้วยสัมผัสในและสัมผัสนอก รวมทั้งสื่อความหมายได้อย่างลงตัว จากการที่เป็นคนชอบฟังเพลงและเขายังเล่นดนตรีด้วยคือ กีต้าร์ ฮาร์โมนิก้าหรือเม้าท์ออร์แกนและแบนโจ นับว่าเป็นคนที่มีความสามารถในการเล่นดนตรีคนหนึ่ง  

อาจินต์ ปัญจพรรค์แต่งเพลงทั้งหมดจำนวน 33 เพลงคือ สวัสดีบางกอก อย่าเกลียดบางกอก ฝันเฟื่องเมืองกรุง สาวตางาม แล้งในอก เว้าสาวอีสาน ขุ่นลำโขง โลกหลับ โอ้บางกอก ประเทศผี ชุดมาร์ช-มาร์ชลูกหนี้ มาร์ชพัฒนาชุมชน มาร์ชกรมแพทย์ทหารบก มาร์ชเซนจอห์น ชุดรำวง 4 ภาค-รำวงพัฒนาภาคเหนือ รำวงพัฒนาภาคอีสาน รำวงพัฒนาภาคใต้ รำวงพัฒนาภาคกลาง จดหมายรักจากเมียเช่า แผ่นดินของเรา แม่พิมดาวสุพรรณ

 อีก 9 เพลงแต่งให้ธานินทร์ อินทรเทพ- ปริญญาชาวนา ผู้ชนะคือควาย แผ่นดินหอม แม่โพสพสังสรรค์ เทพธิดานุ่งผ้าซิ่น นิราศทะเลทราย ขุดทองกลับบ้าน ชมนางนา ส่วนเพลง “ไร้จันทร์” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 39 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องเป็นภาษาอังกฤษชื่อเพลง “NO Moon” เมี่อปีพ.ศ. 2508

 ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อาจินต์ ปัญจพรรค์ประพันธ์คำร้องถวายชื่อ “ไร้จันทร์” ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคและม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องชื่อ “ไร้เดือน”

“ภูมิแผ่นดิน” แต่ง 2542 ขอยกตัวอย่างคำร้องเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยสักสองท่อน เพื่อเห็นฝีมือการแปลของอาจินต์ ปัญจพรรค์...

“NO Moon,

What do I care ’bout moonlight,

I have your smile, love,

That’s shining just as bright.

There’s nothing I cannot do,dear,

If you love me true,dear,

My way is always clear.”

“ไร้จันทร์

ฉันไม่นึกห่วงแสงโสมผ่อง

ลักยิ้มแสนหวานส่อง

เปรียบประกายทองของจันทร์

มิเคยมีสิ่งใดไกลเกินหวัง

แม้นมั่นใจในรักฉัน

มิหวั่นภัยใดขวางกั้น

ทางรักสุขสันต์สดใส...”

สำหรับเพลง “ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา”เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542  ร่วมกันแต่งทำนองโดย สง่า อารัมภีร นคร มงคลายน แมนรัตน์ ศรีกานนท์ ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ส่วนคำร้องแต่งโดยนักแต่งเพลง นักเขียนและกวีท่านคือ ชาลี อินทรวิจิตร อาจินต์ ปัญจพรรค์ สุรพล โทณะวณิก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ โดยแต่งคนละท่อน อาจินต์ ปัญจพรรค์แต่งท่อนที่สอง ดังตัวอย่าง...

 “บุญของแผ่นดินไทย

พ่อหลวงบันดาลให้ ที่ในยุ้งฉาง มีข้าว น้ำรินดินดีใครเล่า

ทุกข์ใดเหินบรรเทา

ด้วยพระบาทเกือบศตวรรษ ธ นำไทยท้าติพ้นภัย

แผ่นดินถิ่นแดงทอง

ผ่านพ้นโพยภัยเนืองนอง พระทรงคุ้มครองไทยไว้

ธ เป็นพลังแผ่นดิน สมานพลังชีวิตของชนชาวไทย

อุ่นใจไพร่ฟ้า พระบุญญาเกริกไกร ภูมิพลมหาราชา...”

เพลง“พ่อของแผ่นดิน” เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ประพันธ์คำร้องและทำนอง โดยนักแต่งเพลง 8 คน ถือว่าเป็นเพลงที่ 34 ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ แต่ไม่มีในหนังสือเพลง เพราะจัดทำขึ้นเมื่อปี 2547               

มีคนถามอาจินต์ ปัญจพรรค์ว่า ถ้าไม่ได้เป็นกรรมกรเหมืองแร่ คิดว่าจะได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงไหม เขาตอบว่า “ผมจะสมัครงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ให้ได้ เพื่อเอาภาษาไทยออกมาเผยแพร่”

หนังสือ “เพลงของอาจินต์”ที่แจกในงานวันเกิดเมื่อปี 2547 พร้อมซีดีเพลง  มีข้อความโปรยที่ปกนั้น คงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่นักเขียนรุ่นลายครามผู้นี้เลือกทำสิ่งที่ตนเองรักในชีวิต....

“ในชีวิต ถ้าไม่ได้เป็นนักเขียน ผมก็คงจะได้เป็นนักร้องนักดนตรีนี่แหละ คงจะหมกมุ่นไขว่คว้าที่จะเป็นนักดนตรีให้จงได้....แต่ถึงจะเป็นนักเขียน ก็ถือเอาดนตรีเป็นสิ่งประเทืองอารมณ์ตลอดเวลา”

“ถนอมเทียนไขเอาไว้ใช้วันหลัง ไม่ใช่เพราะเทียนไขมันแพง แต่เพราะว่ามันหายาก ก็เหมือนชีวิตของเรานั่นแหละ ดูผิวเผินแล้ว รู้สึกว่าเราถลุงมันเล่น แต่ในส่วนลึก เราถนอมมันดอก ไม่ใช่เพราะชีวิตคนอย่างเรามีราคาแพงนักดอก แต่ว่ามันหายากต่างหาก”(อาจินต์ ปัญจพรรค์)