อะไรก็เกิดขึ้นได้ สำหรับฉากการเมืองทั้งการจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่างพรรคการเมือง 11 พรรคประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรค พลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคพลังสังคมใหม่ พรรคท้องที่ไทย จำนวน 314 เสียง

เพื่อไทยกับอดีตพรรคร่วมรัฐบาล หรือจะในความเห็นของผู้คร่ำหวอดการเมืองจะมองว่า เป็นพรรคร่วมรัฐบาลชุดเดิมที่มีพรรคเพื่อไทยเข้าร่วม ไม่ว่าอย่างไรก็ตามสูตรรัฐบาลในวันนี้

เมื่อผนวกกับฉากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทำให้มีการวิเคราะห์ตรงกันว่าเป็นสัญญาณสิ้นสุดของสงครามสีเสื้อ

และหากย้อนกลับไปในถ้อยแถลงเหตุผลในแถลงการณ์การจัดตั้งรัฐบาล โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บางช่วงบางตอนมีการเอ่ยถึงคำว่า “ปรองดอง”อยู่ในถ้อยแถลง โดยระบุว่า  

“พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะมีอดีตพรรคการเมืองในรัฐบาลที่แล้วร่วมรัฐบาล แต่ทุกพรรคจะร่วมกันทำงานกับพรรคเพื่อไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ดังเช่นที่ทุกพรรคการเมืองได้เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรัก สามัคคี ปรองดองของคนในชาติ และจะร่วมกันสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป”

ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ  จากเพจเฟซบุ๊กของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ อธิบายเหตุผลในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ว่า   มีการหยิบยกเรื่องของความปรองดองขึ้นมาพูดถึงเช่นกัน โดยระบุว่าเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค

และบางช่วงบางตอนระบุว่า “ที่สำคัญนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสามัคคีปรองดองเลิกการแตกแยก ใช้พลังความสามารถทางการเมืองของเราและของพรรคเพื่อไทยมาช่วยกันสร้างสรรค์บ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า และมีความสงบสุขต่อไปตามแนวคิดของพรรคเราตั้งแต่ต้นที่ว่าเราจะรวมไทยสร้างชาติจริงๆ”

กระนั้น นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นปฐมบทของความปรองดอง แม้บางฝ่ายจะมองว่าเป็นเพียงกลยุทธ์ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” หรือมีศัตรูร่วมกัน กระนั้นบนเส้นทางที่มีส่วนผสมของฝ่ายอนุรักษ์และทุนนิยม ไม่ใช่เสรีนิยมที่สุดโต่งนั้นจะเดินไปสู่เป้าหมายของการปรองดองที่แท้จริง เพื่อต่อสู้กับภัยใหม่ได้หรือไม่อย่างไร ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่สลับซับซ้อนมากกว่า 3 ก๊ก

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะมีประสบการณ์ที่มากพอจะพาประเทศเดินไปข้างหน้า โดยไม่หวนย่ำซ้ำรอยวิกฤติ