ความชัดเจนทางการเมือง ในส่วนของรัฐบาลชุดใหม่ สำหรับคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” สร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้า การหลอมรวมนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล  เพื่อนำนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองนำไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูสถานการณ์ด้านแรงงานในปัจจุบัน  ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/66 พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

สำหรับการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.7% จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ 2.5% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับสาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น,สาขาการผลิต,การค้าส่งและค้าปลีก,การขนส่งและเก็บสินค้า ก็มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่ ภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวลงเล็กน้อยจากปี 65 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยแล้ง

ส่วนชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ ค่าจ้างแรงงาน ก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 15,412 บาท และ 14,032 บาท/คน/เดือน ขณะที่ อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 1.06% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน

แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป ได้แก่

1. การขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากพิจารณาตำแหน่งงานว่าง และจำนวนแรงงานที่ได้บรรจุงานในช่วงเดือนธ.ค. 65-มิ.ย.66 จะพบว่า ผู้สมัครงาน 1 คน มีตำแหน่งงานรองรับถึง 5 ตำแหน่ง

2. การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ โดยไตรมาส 2/66 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชนที่กำลังจะเกษียณอายุกว่า 1.3 ล้านคน ขณะที่ แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลง

3. ผลกระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยปริมาณฝนสะสมในปัจจุบันมีค่าน้อยกว่าค่าปกติในทุกภูมิภาค ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำ จะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร

โดยในภาคบริการ มีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากที่สุด ส่วนภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลกระทบมากนั้น สิ่งที่กังวลคือ ตำแหน่งงานว่าง กับคนที่ได้รับการจ้างงานยังไม่สอดคล้องกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องหลักสูตรการสอน หรือจำนวนผู้ที่จบการศึกษาประมาณ 40-50% จบสายบริหาร แต่ตำแหน่งงานที่ต้องการส่วนใหญ่เป็นแรงงานสายวิทยาศาสตร์ วิศวะ หรือการผลิต ซึ่งต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่า จะมีการปรับปรุงอย่างไรให้ผู้ที่จบการศึกษาสอดคล้องกับตำแหน่งงานในตลาดได้มากขึ้น

ถือเป็นการบ้านที่สำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนที่จะต้องเตรียมมาตรการรับมือกับการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบ และบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน