ยูร   กมลเสรีรัตน์

[email protected]

บำเหน็จแห่งการทำงาน

1,รางวัลเกียรติยศ

จากการทำงานเขียนมาเป็นเวลายาวนาน จนเกิดดอกผลของงานเขียนประเภทต่าง ๆ หลากหลาย อันเป็นแรงงานแห่งความรักโดยแท้ จึงมีองค์กรที่เล็งเห็นคุณค่าของผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น

ปี 2534 นิตยสารช่อการะเกดโดยสำนักช่างวรรณกรรมของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในนามเจ้าสำนักช่างวรรณกรรมาและบรรณาธิการนิตยสารช่อการะเกด ซึ่งเป็นเวทีที่ส่งเสริมนักเขียนเรื่องสั้น โดยเฉพาะนักเขียนหน้าใหม่ให้แจ้งเกิดมานับไม่ถ้วน มอบรางวัลให้แก่อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในฐานะ

 “นักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ กล่าวสุนทรกถาในงานมอบรางวัลเรื่องสั้น “ช่อการะเกด” ชุด ไฟไม่ลามทุ่ง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2534 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้า มีเนื้อความคมคาย จับใจยิ่ง...

“งานเขียนเป็นงานที่ต้องทำคนเดียวอย่างโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว แต่ความโดดเดี่ยวคือ เอกเทศในการคิด  ความเปล่าเปลี่ยวให้เอกสิทธิ์ในการเขียน

นักเขียนคือคนธรรมดาสามัญ มีความรักที่จะเขียน เขาเก็บวัตถุดิบ เลือกสรรออกมาปั้นด้วยจินตนาการ แล้วถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาเขียน

แผ่นกระดาษจึงเป็นกระดาษของเขาที่เขาจะบันดาลให้มันลุกเป็นไฟหรือเยือกเย็นดด้วยแสงจันทร์ เขาใช้ความโดดเดี่ยวสร้างตัวหนังสือให้ดีเด่น เขาเปลี่ยนความเปล่าเปลี่ยวให้เป็นตัวหนังสือที่ปราดเปรียว

โลกบนแผ่นกระดาษของเขาบังเกิดมวลชีวิตและความรู้สึกนึกคิดด้วยตัวหนังสือที่เขาสั่งให้มันเคลื่อนไหว เขาปล่อยตัวคน สัตว์ วัตถุ ลงบนแผ่นกระดาษในเหตุที่เขากำหนด ในบทเจรจรที่เขาเสกสรร ผลงานของนักเขียนคือ

ทูตผู้มีเกียรติของภาษา...ทูตผู้ชัดถ้อยชัดคำด้วยเหตุผล ทูตผู้มากด้วยความรอบคอบและรอบรู้ ผู้มีชั้นเชิงในการดำเนินเรื่อง ขั้นตอน วรรคตอน ย่อหน้า ขึ้นต้น เดินเรื่องและลงท้าย

ผลงานของนักเขียนเดินทางอย่างกล้าหาญผ่านการตรวจสู่สาธารณชน ผลงานที่ดีเดินทางด้วยตัวของมันเสองอย่างสง่า ผ่านการจราจรไปด้วยคุณภาพ ไปจุดประกายแห่งความบันเทิงเริงรมย์ และปัญญาให้แก่ผู้อ่านนับแสนนับล้าน

ไม่มีคะแนนพิเศษให้แก่ห้องแอร์ ไม่มีการตัดคะแนน ผลงานจากกระท่อมต้องวัดกันด้วยฝีไม้ลายมือมือ-คุณค่า-คุณภาพ-คุณธรรม สายธารวรรณกรรมชิ้นหนึ่งมีตาน้ำอยู่ที่วัตถุดิบ ผลุดพลุ่งขึ้นมาด้วยความบันดาลใจ ขับเคลื่อนด้วยแรงแห่งภาษาและศรัทธาที่จะเขียน พ่อขุนรามคำแห่งสร้างภาษาไว้ให้แก่เรา พ่อแม่สร้างสมองไว้ให้แก่เรา โลกสร้างวัตถุดิบรอเราอยู่ เราลงมือใช้ความโดดเดียว เปล่าเปลี่ยวสร้างงาน”

ปีถัดมา สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2534 ดังคำประกาศว่า...

“...นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2470 ที่จังหวัดนครปฐม เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จสูงมาก สร้างงานอันสะท้อนประสบการณ์ชีวิต สามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน  นอกจากความจัดเจนในการเขียนเรื่องสั้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นต้นแบบของเรื่องสั้นไทยยุคใหม่แล้ว  ยังสามารถกรองประสบการณ์ออกมาในรูปลักษณะอื่น อันได้แก่ บทความ นวนิยาย บทละคร บทละครโทรทัศน์ บทร้อยกรองและบทเพลงไทยสากล โดยสามารถจับวิญญาณของชนบทไทยได้อย่างน่าประทับใจ เข้าถึงความคิดและวิถีชีวิตของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ผลงานวรรณกรรมเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งชีวิตชีวา เปี่ยมด้วยเสน่ห์ที่ผูกพันอยู่กับผืนดินและผืนน้ำ อันเป็นพื้นเพของกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอย่างเข้มข้น  โลกวรรณกรรมของอาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นโลกที่มนุษย์กับธรรมชาติประสานสัมพันธ์กันเป็นเอกภาพแนบสนิท ในฐานะบรรณาธิการเป็นผู้มีคุณูปการมากหลายต่อนักเขียนร่วมรุ่น นักเขียนใหม่และนักเขียนอาวุโส จนเป็นที่ยกย่องนับถือในวงวรรณกรรมไทย

นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ จึงได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พุทธศักราช 2534”

ในปีเดียวกันคือปี 2535 กองทุนศรีบูรพาได้ประกาศยกย่องให้อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็น “นักเขียนรางวัลศรีบูรพา”ประจำปี พุทธศักราช 2534  “รางวัลศรีบูรพา” เป็นรางวัลของ “กองทุนศรีบูรพา” ก่อตั้งขึ้นโดยสุวัฒน์ วรดิลกหรือรพีพร นักเขียนกระเดื่องนามและอีกหลายนามปากกา ตั้งแต่ปี 2531 ครั้งที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย(ปี 2530-2534)

สุวัฒน์ วรดิลก เป็นนักเขียนที่รักความเป็นธรรมและต่อต้านเผด็จการยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปี เช่นเดียวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา ซึ่งได้ลี้ภัยไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและเสียชีวิตที่นั่น จนเกือบจะถูกลทม

สุวัฒน์ วรดิลก นักเขียนผู้สร้างผลงานอันยิ่งยงเรื่อง พิราบแดง,ฝากไว้ในแผ่นดิน,พ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม ฯลฯ จึงตั้ง “รางวัลศรีบูพา”ขึ้น เป็นการรำลึกและเป็นเกียรติประวัติแก่ “ศรีบูรพา” นักคิด นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของผลงานเรื่อง แลไปข้างหน้า,ข้างหลังภาพ,จนกว่าเราจะพบกันอีก ฯลฯ เพื่อมอบแด่นักคิด เขียน นักแปล กวีและนักหนังสือพิมพ์ ที่สร้างผลงานแนวทางเดียวกับ “ศรีบูรพา” จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน

ปี 2550 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมอบรางวัล “นราธิป”ให้แก่อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นรางวัลเกียรติคุณที่มอบให้กับนักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ยุคประภัสสร เสวิกุล เป็นนายกสมาคมฯ  ชื่อรางวัลนำมาจากพระนามของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งปี 2544 ที่ก่อตั้งรางวัลนี้ เป็นปปีครบรอบ 110 ปี ชาตกาลและและครบรอบ 10 ปี ที่พระองค์ท่านได้รับยกย่องจากยูเนสโก(UNESCO)

นอกจากนี้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้ประกาศยกย่องให้อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นนักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น ในวาระ 100 ปีเรื่องสั้นไทย เมื่อปี 2528 โดยจัดพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ “นักเขียนเรื่องสั้นดีเด่น วาระครบ 100 ปีเรื่องสั้นไทย” มีเรื่องสั้นเด่นที่คัดสรรแล้วของนักเขียนที่ได้รับการยกย่อง 15 คนด้วยกัน หนังสือเล่มนี้ได้รับยกย่องให้เป็น 1 ในหนังสือดีร้อยเล่มที่เด็กและ เยาวชนไทยควรอ่านจากสกว.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) 

เรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ และนวนิยายเรื่อง “เลือดในดิน” ได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่านจากสกว. นอกจากนี้นวนิยายเรื่อง “เจ้าพ่อ เจ้าเมือง”ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านประกอบของนักเรียนโรงเรียนนายอำเภอ

ปี 2556  สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประกาศเกียรติคุณมอบรางวัล “บรรณาธิการเกียรติยศ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง” เป็นการใช้คำว่า “บรรณาธิการเกียรติยศ”เป็นครั้งแรก ด้วยถือว่าเป็นรางวัลพิเศษ รางวัลนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2552 ในวาระครบ 50 สมาคมในชื่อ”รางวัลบรรณาธิการดีเด่น คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการนิตยสารสตรีสารในอดีต

 

 

“ตัวหนังสือเป็นศิลปศาสตร์ ตัวเลขเป็นเศรษฐศาสตร์ ตัวหนังสือเป็นสื่อสารให้รู้ซึ่งกันและกัน มันถ่ายทอดความในใจในจดหมายรัก....เป็นผู้เล่าประวัติศาสตร์ เป็นครูเขียนในตำรา เป็นตัวแทนสมองและจินตนาการของนักประพันธ์...(อาจินต์ ปัญจพรรค์)