รัฐบาลเศรษฐา 1 เกิดขึ้นจากการรวบรวมเสียงสนับสนุนของพรรคการเมืองต่างๆ 11 พรรคการเมือง 314 เสียง หลังจัดสรรคณะรัฐมนตรีเสร็จเรียบร้อย มีปฏิกิริยาที่สะท้อนถึงความไม่พอใจและเค้าลางแห่งความยุ่งยากในอนาคต  อีกทั้งปัจจัยการหลอมรวมนโยบายต่างๆของแต่ละพรรคกับพรรคแกนนำ ที่สำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นประเด็นท้าทายต่อมวลชนที่ต่อต้าน

จนมีคำถามว่า รัฐบาลเศรษฐาจะอยู่ได้นานหรือไม่ กระทั่งมีการทำนายว่าจะอยู่ได้ไม่ครบเทอม

หากย้อนกลับไปดู รัฐบาลผสม 19 พรรคในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ฝ่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์และคำปรามาศต่างๆ จนเดินมาครบเทอม 4 ปีบริบูรณ์รักษาการณ์อีก 3 เดือนโดยประมาณ ฉะนั้นจึงไม่ควรติเรือทั้งโกลน ประกอบกับการเมืองไทยนั้น มีความสลับซับซ้อน และมากด้วยวิธีการอันแยบคาย

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูเนื้อหาและความหมายของคำว่ารัฐบาลผสม เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น ขออนุญาตหยิบยกเอาความตามฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า มาอธิบายต่อดังนี้

“รัฐบาลผสม (Coalition government) คือ รัฐบาลที่ประกอบไปด้วยกลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองหลายกลุ่มมารวมตัวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากขึ้นบริหารประเทศ สาเหตุที่นำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลผสมนั้นส่วนใหญ่เนื่องมาจากไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา รัฐบาลผสม ยังอาจก่อตั้งขึ้นในกรณีที่เกิดปัญหาระดับชาติหรือวิกฤตการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างช่วงสงคราม เพื่อให้รัฐบาล มีระดับความชอบธรรมทางการเมืองที่สูง ขณะที่ยังได้มีบทบาทในการลดความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ในช่วงเวลาดังกล่าว พรรคการเมืองอาจประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมือง ทุกพรรค เมื่อรัฐบาลผสมเกิดแนวคิดที่ต่างกัน จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สำหรับในประเทศไทย คำว่า รัฐบาลผสมนี้ ใช้เป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 2480 โดยนักการทูตชาวอังกฤษชื่อ Sir Jirsy Crossby ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีลักษณะเป็น “รัฐบาลผสม” (Coalition government) เนื่องจากประกอบด้วยกลุ่มการเมืองฝ่ายพลเรือนนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ กลุ่มหนึ่งกับกลุ่มทหารนำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม อีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนายทหารและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งกลุ่มของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอีกส่วนหนึ่งรวมกันประกอบเป็นรัฐบาลทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ต่อมาคำว่ารัฐบาลผสมนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้น

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์รัฐบาลผสมของเมืองไทยนี้ จะมีความชัดเจนและเห็นได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีลักษณะโดดเด่นมากที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน เนื่องด้วยในการเลือกตั้งทุกครั้งจะไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถมีเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นจึงต้องมีการรวมตัวกันของพรรคการเมืองหลายพรรคเพื่อให้มีเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลเสมอ (“ผู้เรียบเรียง : นายชยพล ธานีวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%...)

ทั้งนี้ การจะอยู่ให้ได้นานหรือไม่นานนั้น อาจมีวิธีการหลากหลาย ในรัฐบาลที่ผ่านมา วิธีการยุบพรรคตัวเอง ก็มีให้เห็นมาแล้ว  กระนั้นปัจจัยเรื่องความมั่นคงของรัฐบาลผสม นอกจากความเข้มแข็งของพรรคแกนนำ การบริหารดุลอำนาจ ประนีประนอมประสานประโยชน์

กระนั้น การเมืองยุคใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองสูง ประชาชนจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้รัฐบาลผสมได้ เป็นพลังค้ำจุนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ฉะนั้นจะทำอะไรโปรดเกรงใจประชาชน