สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานให้สัมภาษณ์ในหนังสือ “ในหลวงของเรา” เกี่ยวกับ “ธรรมะในพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” เมื่อวันที่ 14ธันวาคม พุทธศักราช 2518 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร มีเนื้อความบางตอนดังนี้ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่พระชนมพรรษายังน้อย ดังที่ได้เคยทราบว่าได้ทรงพอพระราชหฤทัยในการฟังเทศน์ ที่มีอยู่เป็นประจำในคราวบำเพ็ญพระราชกุศลถวายที่พระบรมศพ รัชกาลที่ 8 แม้จะเป็นการเทศน์กัณฑ์ยาวก็ทรงพอพระราชหฤทัยฟัง ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนาเมื่อได้ทรงพบปะพระมหาเถระผู้ใหญ่ ก็มีพระราชปุจฉาและทรงสดับข้อธรรมนั้นๆอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะได้ทรงมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงสดับฟังธรรมเป็นครั้งคราวตลอดมา ทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยในธรรม และสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนามากขึ้น พระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีในอดีต โดยมากได้เสด็จออกทรงผนวชก่อนเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เว้นแต่รัชการที่ 5 ซึ่งเสด็จออกทรงผนวชแล้ว เพราะว่าได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษายังน้อย มาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันก็ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เมื่อพระชนมพรรษายังน้อยเช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาพระธรรมวินัยอย่างทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงสาระแก่นสาระสำคัญของพระพุทธศาสนา ดังเช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไวยาวัจกรวัดในคราวนั้น ซึ่งเป็นหน้าที่อยู่ปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณตลอดเวลาที่ทรงพระผนวชอยู่ ได้แสดงทางวิทยุกระจายเสียงในคราวหนึ่งในระยะนั้นว่า พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระราชหฤทัยในธรรมะ ดังที่ได้แสดงไว้เป็นหมวดๆ ในนวโกวาทตั้งแต่ทุกหมวด2 เป็นต้น ซึ่งเมื่ออ่านดูเป็นหมวดๆไปแล้วก็จะสับสน แต่ก็ได้ทรงเข้าพระราชหฤทัยว่าสรุปลงได้ในหลักแห่งไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา และก็ถือเทียบได้กับแนวปฏิบัติทางตะวันตก แนวศีลก็เท่ากับจริย ธรรม (Ethics) แนวสมาธิก็เท่ากับ (Psychology) หรือจิตวิทยาแนวปัญญาก็เท่ากับ (Philosophy) หรือปรัชญา แนวศีล สมาธิ ปัญญา ทางพระพุทธศาสนานั้นถูกต้องลึกซึ้งยิ่งนัก การที่ได้ทรงพระผนวชในครั้งนี้ย่อมเป็นประโยชน์เป็นอันมาก เพราะทำให้พระพุทธศาสนาปรากฏเด่นขึ้น คนทั้งหลายที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ไม่สนใจในพระพุทธศาสนา ก็กลับมาสนใจยิ่งขึ้น จึงเป็นการเชื่อได้ว่าได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อันหลักของการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนานั้น เมื่อเปรียบเทียบกับหลักของการบูชา ซึ่งมีอยู่ 2 อย่างคือ อามิสบูชาและปฏิบัติบูชา ก็พึงเห็นได้ว่าทำด้วยการอุปถัมภ์ด้วยเครื่องอุปถัมภ์ทั้งหลายที่เป็นภายนอกอย่างหนึ่ง ด้วยการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกระทำมาอย่างเต็มที่ทั้งสองอย่าง ได้ทรงปฏิบัติพระองค์เองอยู่ในธรรม ในทศพิธราชธรรมโดยเคร่งครัดตลอดมา”