ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผย 5 กลลวงโดนหลอกมากที่สุดจากเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ล่าสุดได้แก่

 1. หลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ

2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ

3. หลอกให้กู้เงิน

4. หลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ

5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center)               

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ซึ่งปัญหาที่พบสำหรับประเทศไทย มีทั้งเหยื่อที่ถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันก็มีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ถูกหลอกไปทำงานให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เหยื่อหลายรายถูกขาย กักขังและทรมานเช่นกัน และยังพบว่ามีการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการขนคนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

กระนั้น แม้จะมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเตือนภัยเกี่ยวกับกลลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ผ่านทางช่องทางต่างๆ  เป็นข้อมูลในการรู้เท่าทันบรรดามิจฉาชีพเหล่านั้นมากมายจากทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไป ที่ประสบพบเจอประสบการณ์ รวมทั้งที่ต้องการบอกต่อเตือนภัย

แต่… แต่ก็ยังมีคนที่ตกเป็นเหยื่อ ถูกหลอกลวงจนต้องสูญเสียทรัพย์สินและบางรายนำไปสู่โศกนาฎกรรม ด้วยมิจฉาชีพนั้น ได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนกลวิธีในการหลอกลวง

ทว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ ก็คือ ข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อ ที่มีเพียงหน่วยงานนั้นๆ ที่จะมีเก็บไว้  ซึ่งหลังๆนั้นจะเห็นได้ว่า เป็นข้อมูลจริง ที่ไม่ใช่ข้อมูลที่หลอกลวงหรือปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อข่มขู่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคม เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม 

ที่มีเนื้อหาคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการโทรคมนาคม  โดยมีเนื้อหาสำคัญๆเช่นในข้อ 14 กำหนดให้ ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของ ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ทั้งทางด้านเทคนิค และการจัดการภายในองค์กรในรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึง ใช้ เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ โดยปราศจากอำนาจ หรือโดยมิชอบ และต้องทบทวนมาตรการดังกล่าว เมื่อมีความจำเป็น หรือเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม และ ข้อ 16 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์ ต้องจัดให้มีบริการแสดงเลขหมายเรียกเข้า ระบบป้องกัน การแสดงเลขหมายโทรออก และระบบปฏิเสธเลขหมายที่ไม่พึงประสงค์ ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด 

เมื่อมีประกาศออกมาแล้ว คงต้องติดตามการดำเนินการของผู้ให้บริการโทรคมนาคมต่อไป ซึ่งตรงนี้จะเป็นคีย์สำคัญในการตัดวงจรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งนี้เรายังเห็นว่า หน่วยงานต่างๆ นอกจากการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เคร่งครัดแล้ว การวางระบบไอที ในการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือการโจมตีทางไซเบอร์ก็จำเป็นต้องมีการปรับและอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือไปจากการให้ความรู้กับประชาชนให้รู้เท่าทัน