ไม่ขอพูดถึงรายงานข้อเสนอแนะแนวทางปรองดองสมานฉันท์ในอดีตตลอดช่วงวิกฤติความขัดแย้งการเมืองกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ที่รายงานชิ้นต่างๆขึ้นหิ้งไปนอนให้ฝุ่นจับ โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ได้หยิบยกนำมาทบทวนและนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม 

แต่จะขอตั้งต้นเอาฉบับล่าสุด ที่น่าจะเป็นปัจจุบันที่สุด โดยเป็นรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ ชุดที่มี นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ที่ได้รายงานผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ต่อ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภาเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อส่งให้ฝ่ายบริหาร

มีข้อเสนอแนะ 10 ข้อดังนี้ 1.สังคมไทยต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้บริบทของสังคมไทย

2.เร่งจัดให้มีกระบวนการค้นหาความจริง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ในประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคม

3.สร้างความรู้ความเข้าใจและกำหนดบทบาทในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงออก ของผู้เห็นต่างในแต่ละฝ่าย

4.เร่งสื่อสารและให้ข้อมูลแก่ประชาชนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง มากกว่าการใช้ความรู้สึกหรือความเชื่อ

5.เร่งสร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์ของคู่กรณี เพื่อนำมาสู่การพูดคุยหรือการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อตกลงด้วยการเปิดพื้นที่ปลอดภัย

6.ใช้ชุดข้อมูลดิจิทัลเพื่อวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้ง และเร่งพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการสมานฉันท์ เอื้อต่อการเปิดพื้นที่เพื่อการหาทางออกของความขัดแย้ง

7.พิจารณาให้มีกฎหมายหรือหน่วยงานสำหรับดูแลและรับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของประเทศ

 8.เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

9.เร่งรัดการปฏิรูปรากเหง้าแห่งปัญหาที่นำมาสู่ความขัดแย้งของสังคมด้วยความจริงใจ

และ 10.มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาต้องมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะในมิติการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี และเปิดพื้นที่ปลอดภัย

ในโอกาสในการเข้ามาบริหารประเทศของ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จึงเห็นควรให้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนำมาทบทวนและปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อนำไปสู่หนทางปรองดอง สมานฉันท์ เมื่อการเมืองปรองดอง เศรษฐกิจก็ไม่ต้องคอยหวาดระแวง มีแต่เดินหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวร