โศกนาฏกรรมที่เป็นผลกระทบจากคดีสังหาร พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว ตำรวจทางหลวง นำไปสู่การปลิดชีพตนเองของ  พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง เป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงและสะเทือนใจกับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องในห้วงที่ผ่านมา

แม้จะเชื่อว่า อยู่ดีๆคงไม่มีใครคิดอยากฆ่าตัวตาย อาจมีความทุกข์อย่างที่สุด เครียดอย่างที่สุดจนหาทางออกไม่ได้  กระนั้น องค์การอนามัยโลก ระบุว่าเมื่อมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบุคคลใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวอย่างน้อย 6 คน

อีกทั้งในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 114 คน หรือนาทีละ 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลกรมสุขภาพจิต พบว่า ตั้งแต่ปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 มีอัตราสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 7.97 ต่อ 1 แสนประชากร เพิ่มขึ้นชัดเจนจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 7.38 ต่อ 1 แสนประชากร

ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตาย อันดับหนึ่งเกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 รองลงมาเป็นปัญหาทางสุขภาพกายและภาวะเจ็บป่วย ร้อยละ 20-30 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากทั้งต่อครอบครัว สังคม และประเทศ ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อนำไปสู่การป้องกันการฆ่าตัวตายในผู้ที่มีภาวะเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม เราสามารถหยุดการฆ่าตัวตายได้ จากบทความ “ช่วยหยุดการฆ่าตัวตาย” โดย ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เว็บไซต์คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=812)  ตอนหนึ่ง ได้แนะแนวทางการช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายไว้ ว่า “เราทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย โดย...


• สนใจ ใส่ใจ สังเกตตนเอง เพื่อน ๆ และคนใกล้ชิด ว่ามีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ ถ้ามีอาการมากให้ถามถึงอาการซึมเศร้า และถามถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย


• ถ้าตนเองเกิดโรคซึมเศร้า ให้ปรึกษาทีมสุขภาพจิตโดยเร็ว 

 

• แนะนำผู้ที่มีอาการซึมเศร้า รีบมาพบทีมสุขภาพจิต”

 

พวกเราทุกคน สามารถช่วยกันหยุดยั้งการฆ่าตัวตายได้ กระนั้น เราอยากฝากถึงทุกหน่วยงาน ในการดูแลสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่และปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเครียดนั้น จำเป็นที่องค์กรและชุมชนจะต้องช่วยกันดูแล และเพิ่มช่องทางเข้าถึงการบำบัดจิตใจ การเข้าถึงการปรึกษาด้านจิตใจจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความถี่ และละเอียดมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย และความสุขของทรัพยากรบุคคลในองค์กร ที่เป็นกำลังในการพัฒนาองค์กร และพัฒนาประเทศ