การบริหารจัดการน้ำแม้จะเป็นวัฏจักรระหว่าง น้ำแล้ง กับน้ำท่วม แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องเตรีบมรับมือกับภาวะโลกร้อน ปรากฎการณ์ เอลนีโญ และลานีญา แม้เทรนทั่วโลกจะเริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในหลากหลายมิติ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็น “เกราะ” ป้องกันภัยพิบัติต่างๆนั้น ยังคงไม่หยุดยั้ง

ปี 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากปี 2565 ประเทศไทยอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ลานีญา ฝนตกค่อนข้างมาก ทำให้ในฤดูแล้งปี 2565/66 มีปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ รวมกันมากถึง 35,853 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

ในขณะที่ปี 2566 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกน้อยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันต่ำกว่าค่าปกติถึง 21% หากไม่มีพายุพาดผ่าน คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะมีปริมาณน้ำใช้การในแหล่งน้ำขนาดใหญ่รวมเพียง 26,142 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณกักเก็บ น้อยกว่าปีที่แล้วถึง 11% ดังนั้นในฤดูแล้งปี 2566/67 จะต้องปรับแนวทางมาตรการรองรับฤดูแล้งให้เหมาะสมเข้ากับสถานการณ์น้ำที่เป็นปัจจุบัน

ทั้งนี้จากการถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 ดังกล่าว ผนวกกับสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น ได้นำไปสู่การจัดทำร่างมาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566/67 ซึ่งมี 9 มาตรการด้วยกัน ประกอบด้วย

1.เฝ้าระวังและเตรียมจัดการแหล่งน้ำสำรอง วางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางมีมาตรฐานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่เกิดเหตุ

2.ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ได้ปริมาณน้ำสำรองมากที่สุด นำน้ำใต้ดินมาใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งน้ำใต้ดินมีปริมาณมากถึง 40,000 ล้าน ลบ.ม.

3.กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์เอลนีโญ ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร  พร้อมเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง

4.จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำ กำหนด เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ

 5.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ส่งเสริมพืช ใช้น้ำน้อยในภาคการเกษตร ประหยัดการใช้น้ำของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมจัดการน้ำเสียตามหลัก 3R

6.เฝ้า ระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ

7.เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชนและองค์กรผู้ใช้น้ำ  

8.สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์

และ 9.ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค การเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นอีก 1 บทพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากแต่การแสวงหาแหล่งน้ำ และการนำเทคโนโลยีในการผลิตและกักเก็บน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เป็นสิ่งที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งขับเคลื่อนตั้งแต่วันนี้